ทัศนะจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ว่าด้วยเรื่องราวดราม่าในระบบสาธารณสุขอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไล่ตามกันมากับเรื่องงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อแพทย์รายหนึ่งพูดถึงคนกินเหล้าแล้วเจ็บป่วยมาเอายาฟรี ทำไมจึงไม่เอาเงินค่าเหล้ามาดูแลตนเอง ซึ่ง นพ.ธีระ มองเรื่องนี้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ หลักจริยธรรมของวิชาชีพแพทย์ และสะท้อนว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่มาจากระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐของไทยที่ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เกิดขึ้น และเรียกร้องการเพิ่มทรัพยากร และความกล้าในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับประชาชนให้เพียงพอ

น้องหมอโดนถล่มจากประชาชนจนน่าสงสาร...

สาเหตุจากการโพสในเครือข่ายสังคมแล้วแตะประเด็นที่อ่อนไหวคือ การมองว่าคนไข้มารักษาด้วยอาการเจ็บป่วยที่เป็นผลจากการไม่ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี

โดยน้องพูดถึงคนกินเหล้าแล้วเจ็บป่วยมาเอายาฟรี ทำไมจึงไม่เอาเงินค่าเหล้ามาดูแลตนเอง

โพสก่อนๆ ของน้องก็กล่าวว่า อยากไล่คนไข้ไม่ฉุกเฉินกลับบ้าน เพราะห้องฉุกเฉินควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

อีกคราวน้องโพสว่า ชอบรักษาคน กทม. เพราะการศึกษาดีกว่า

หากมองเรื่องข้างต้นเป็นกรณีศึกษาสำหรับน้องหมออื่นๆ คงพอจะสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง วิชาชีพเรามิใช่ผู้พิพากษา มิใช่นักเศรษฐศาสตร์ มิใช่นักวิทยาศาสตร์ มิใช่ดารา...แต่วิชาชีพแพทย์ต้องประมวลความรู้ทุกด้านมาใช้ในชีวิตจริง และดูแลประชาชนโดยใช้ทักษะและศิลปะในการสื่อสารและแก้ปัญหาให้แก่แต่ละคน รวมถึงตนเอง

ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเมตตากรุณา ควบคู่ไปกับหลักจริยธรรมวิชาชีพ ได้แก่ การกระทำใดๆ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อคนไข้ โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างรอบคอบ (Beneficence and Non-maleficence), การดูแลอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่ทำให้รู้สึกถึงการแบ่งแยกชนชั้น และยุติธรรมเชิงมาตรฐานวิชาชีพ (Justice), และการเคารพในความเป็นมนุษย์ บนพื้นฐานของการตัดสินใจของตัวเค้า

โดยกระทำการตามบทบาทหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ คนไข้จะตัดสินใจเช่นไร หากมีสติสัมปชัญญะที่ดี ก็ควรเคารพการตัดสินใจนั้น (Respect for person)

สอง ในชีวิตจริงนั้น หมอมักจะอยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้น เครียด เหนื่อย จึงควรพึงระวังการตัดสินใจและกระทำการใดๆ ออกไป เพราะอาจทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ครบถ้วน ไม่รอบคอบ หรือทำให้เข้าใจผิดขึ้นมาได้

หากตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้น พี่แนะนำให้พักผ่อน หยุดสักพัก หรือกระทำการใดๆ ให้ช้าลง เพื่อให้เรามีกำลังกาย กำลังใจ และสติอยู่กับตัวเรา งานเยอะคนน้อยเป็นสัจธรรมทุกที่ทั่วโลก ดังนั้นหยุดสักพัก ไม่เป็นไร

สำหรับผู้บริหารจัดการระบบสุขภาพภาครัฐนั้น บทเรียนที่น้องหมอและประชาชนมากมายสอนเรา ได้แก่

หนึ่ง ระบบบริการภาครัฐต้องได้รับการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ทุกด้านเพิ่มขึ้น อย่ามัวแต่ใช้ทรัพยากรเดิม รีดเลือดกับปู หาคุณภาพมากขึ้นแต่ไม่สนับสนุนอะไรเลย เลิกเสียทีกับการผิดทิศผิดทางที่จะใช้ทฤษฎีปรับปรุงประสิทธิภาพแบบโรงงานมาใช้กับระบบบริการภาครัฐ

จงหันมาทำนุบำรุงบุคลากรภาครัฐให้มีกำลังกาย กำลังใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการดูแลรักษาที่ดีจะตามมา

สอง ถึงเวลาหรือยังที่จะปรับระบบบริการให้ตอบสนองประชาชน โดยจัดการปัญหาให้ตรงจุด ทำทรัพยากรให้เพียงพอ ไม่ต้องเงื้อง่าราคาแพงให้มากความ

ความจริงมีให้เห็นอยู่ตรงหน้า ทำอย่างไรคนไข้ไม่ฉุกเฉินแต่ต้องทำงานกะกลางวันจะสามารถมาตรวจได้ตอนกลางคืน ไม่มีใครหรอกที่อยากถ่อสังขารเดินทางมาดึกๆ ดื่นๆ เสียค่ารถ อดนอน ฯลฯ อะไรไม่พอจนทำไม่ได้ก็แปลว่าต้องจัดการ หากมองว่าเป็นปัญหาสำคัญ ระเบียบรัฐหากเป็นอุปสรรคทำไมไม่แก้ไข ม.44 ก็มี หากทำได้คนทำงานก็สบายขึ้น คนไข้ก็จะหายดี มีแต่วินวิน ที่ทำไม่ได้ก็เพราะทิฐิ และการสาละวนกับกับดักของระเบียบอันล้าสมัยนั่นเอง

แถมปัญหาแบบนี้ยังโดนนักวิชาการบางพวกบางกลุ่มใช้เพื่อโยงใยกล่าวโทษไปถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่จริงแล้วเรื้อรังมานานและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากร สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ทำเถิดครับ...การดูแลสุขภาพและชีวิตของคนเรานั้นไม่ใช่การเกณฑ์คนมาทำแล้วใช้กฎระเบียบมาบังคับแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะต้องใช้ทั้งกำลังกาย กำลังปัญญา และ"ใจ"...

โดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย