เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : เสียงขู่ประท้วงผละงานจากกลุ่มแพทย์เป็นตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนความไม่พอใจของเหล่าบุคลากรในระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service) หรือ NHS ของสหราชอาณาจักร หลังจากที่เมื่อปีก่อนเพิ่งเกิดประท้วงผละงานของกลุ่มพยาบาล นักกิจกรรมบำบัด เวรเปล หน่วยกู้ชีพ และผู้ช่วยพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 80 และทุกวันนี้บุคลากร NHS ก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของการประหยัด แม้ที่ผ่านมาไม่ได้ปรับเงินเดือนหรือปรับขึ้นเพียงน้อยนิด ขณะที่ขวัญกำลังใจก็ถดถอยเพราะตกเป็นฝ่ายรับเสียงติเตียนถึงคุณภาพการบริการ
ข้อพิพาทครั้งล่าสุดมีสาเหตุจากนโยบายที่จะเปิดให้บริการทุกวัน ทำให้แพทย์จบใหม่โดนบีบให้รับเงื่อนไขลดค่าเบี้ยเลี้ยงล่วงเวลาแลกกับการปรับฐานเงินเดือนสูงขึ้นเพื่อที่โรงพยาบาลจะได้ประหยัดงบประมาณและสามารถจ้างบุคลากรเพิ่มสำหรับช่วงกลางคืนและสุดสัปดาห์ ซึ่งกลุ่มแพทย์ได้ตอบโต้ด้วยการขู่ประท้วงผละงาน ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าจำนวนแพทย์ที่ยื่นขอเอกสารทำงานยังต่างประเทศนั้นก็สูงขึ้นอย่างพรวดพราด
แพทย์กุมความได้เปรียบที่สามารถนำทักษะอันทรงคุณค่าติดตัวไปได้ทั่วทุกมุมโลก และบางครั้งก็สามารถต่อรองเรียกค่าตัวให้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด กระนั้นสาเหตุส่วนหนึ่งที่บีบให้แพทย์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนและทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง ก็มาจากแรงกดดันของตลาดแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ หรืออาจกล่าวในทางหนึ่งว่าแพทย์เองก็ตกเป็นเหยื่อรายล่าสุดของกระแสโลกาภิวัตน์เพียงแต่มีสถานภาพสูงส่งกว่าเพื่อนร่วมชะตากรรมในสาขาวิชาชีพอื่น
สูญเสียทรัพยากรคุณภาพ
ในช่วง 3 วันนับจากรัฐบาลประกาศสัญญาจ้างใหม่ ตัวเลขของแพทย์ที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในต่างประเทศจากเดิมที่ตกวันละ 20-25 คนก็พุ่งไปถึงร่วม 550 คนต่อวัน กระนั้นแนวโน้มการทำงานในต่างประเทศก็สูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วตามที่สถิติของแพทยสภาชี้ว่า จำนวนแพทย์ที่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 ระหว่างปี 2551-2556
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า กว่าร้อยละ 80 ของแพทย์ที่ได้รับอนุมัติใบประกอบวิชาชีพในต่างประเทศมีอายุน้อยกว่า 40 ปี พ้องกับรายงานของวิทยาลัยเวชศาสตร์ฉุกเฉินของอังกฤษ ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาขาดแคลนบุคลากรจากการอพยพไปประกอบวิชาชีพยังต่างประเทศระหว่างวิกฤติอุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินในช่วงฤดูหนาวปี 2557-2558 ขณะที่ผลสำรวจในหมู่แพทย์ฝึกหัดก็สะท้อนว่าปัญหานี้อาจเรื้อรังถึงระยะยาว
แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าแพทย์ที่ได้รับอนุมัติใบประกอบวิชาชีพในต่างประเทศอพยพออกไปจริงสักกี่คน แต่อีกด้านหนึ่งนั้นประเทศอันเป็นเป้าหมายหลัก เช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็ยังคงต้องพึ่งพาแพทย์ชาวต่างชาติ รวมถึงแพทย์จากสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันเป็นกำลังหลักของแพทย์ต่างชาติในนิวซีแลนด์ด้วยสัดส่วนที่สูงถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนแพทย์ต่างชาติทั้งหมด
ยุทธศาสตร์การวางแผนบุคลากรสุขภาพของนิวซีแลนด์ รวมไปถึงออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกาล้วนชัดเจนว่าต่างอาศัยการดึงแพทย์ชาวต่างชาติ (รวมถึงบุคลากรสุขภาพในสายวิชาชีพอื่น) มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในประเทศของตน และมีข้อมูลประจักษ์ชัดว่าประเทศดังกล่าวแน่วแน่ที่จะใช้นโยบายนี้ไปอีกหลายปี เพื่อเสริมการบริการด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ และต่างก็แย่งชิงบุคลากรสุขภาพกันอย่างดุเดือดด้วยสิ่งล่อใจทั้งตัวเลขเงินเดือน โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย
ในท่ามกลางตลาดแรงงานยุคโลกาภิวัตน์นี้เองที่แพทย์สหราชอาณาจักรมองเห็นทางหนีทีไล่จาก NHS ซึ่งกำลังตกอยู่ใต้มาตรการรัดเข็มขัด และขณะเดียวกันก็กุมอำนาจต่อรองไว้ด้วยการขู่จะนำทักษะในมือออกไปประกอบวิชาชีพในประเทศอื่น
แล้วเหตุใดกันเล่าที่รัฐบาลจะต้องเอาเป็นเอาตายผลักให้กลุ่มแพทย์ที่ทรงอำนาจนี้รับบทเป็นผู้ร้าย ?
รัดเข็มขัดคนละเส้น
รัฐบาลจำเป็นต้องกระชับท่าทีแข็งกร้าวในการต่อรองกับแพทย์เพื่อที่จะบรรลุพันธกิจขยายการเข้าถึงบริการ NHS ด้วยตัวเลขรายจ่ายที่ไม่หลุดไปจากเป้า ซึ่งหากมองจากมุมนี้ก็จะเห็นได้ว่าแพทย์นั้นเป็นเพียงเหยื่อของมาตรการเหวี่ยงแหที่มุ่งบั่นทอนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของบุคลา NHS ทั้งหมดโดยเฉพาะบุคลากรในภาคสาธารณสุขของรัฐ
การที่ตลาดแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์เปิดทางให้แพทย์สหราชอาณาจักรสามารถไปประกอบวิชาชีพในต่างแดนนั้น ในอีกด้านหนึ่งหมายความว่า รัฐบาลเองก็สามารถอุดช่องโหว่ด้วยแพทย์จากประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจและเผชิญกับมาตรการรัดเข็มขัดที่โหดร้ายยิ่งกว่า ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงสามารถลดรายจ่ายและรื้อเงื่อนไขการทำงานใหม่ โดยที่ NHS ยังคงความเย้ายวนของตัวเลขค่าตอบแทน โอกาสก้าวหน้า และความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้รัฐบาลเต็มใจที่จะปล่อยแพทย์สหราชอาณาจักรออกไป เนื่องจากสามารถทดแทนด้วยแพทย์จากประเทศยากจนซึ่งพร้อมจะเข้ามารับไม้แทน
ในช่วงปี 2553 และ 2556 นั้น สถิติแพทย์ชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบวิชาชีพในสหราชอาณาจักรทิ้งห่างอัตราแพทย์จบใหม่อย่างเห็นได้ชัด และส่วนใหญ่เป็นแพทย์จากชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะอิตาลีซึ่งครองอันดับหนึ่งแพทย์ขึ้นทะเบียนใหม่ในสหราชอาณาจักร ตามมาด้วยกรีซและสเปน สวนทางกับจำนวนแพทย์จากแหล่งเดิม เช่น ปากีสถาน และอินเดียซึ่งมีแนวโน้มถดถอยลง
การที่รัฐบาลหวังเกณฑ์แพทย์จากประเทศในอียูซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อมาทดแทนแพทย์สหราชอาณาจักรนั้น ต้องถือเป็นนโยบายคิดสั้น เพราะไม่เพียงจะทำให้งบประมาณที่ทุ่มเทลงไปเพื่อบ่มเพาะทรัพยากรคุณภาพต้องสูญไปโดยเปล่าประโยชน์จากปัญหาสมองไหล แต่เมื่อใดก็ตามที่ประเทศเหล่านั้นฟื้นขึ้นมาทวงคืนบัลลังก์เศรษฐกิจ การแก่งแย่งทรัพยากรบุคคลเปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถก็จะยิ่งทวีความดุเดือด จนสหราชอาณาจักรกลายเป็นตลาดลำดับรอง ซึ่งในห้วงที่ NHS เพิ่งเปิดตัวโครงการรณรงค์ให้แพทย์สหราชอาณาจักรกลับมาประกอบวิชาชีพในแผ่นดินแม่นี้ จึงคาดหวังถึงความสำเร็จได้ยากห ากรัฐบาลยังเดินหน้าประกาศสัญญาจ้างใหม่
ที่มา : The Conversation
เกี่ยวกับผู้เขียน
มาเจลล่า คิลกีย์ (Majella Kilkey) อาจารย์อาวุโสด้านโยบายสังคม มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์
เนล ลันท์ (Neil Lunt) อาจารย์ด้านโยบายสังคม มหาวิทยาลัยยอร์ก
- 97 views