แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือ หมอ GP (General Practitioner) ที่ทำงานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพอังกฤษ หรือ National Health Service (NHS) กำลัง “สมองไหล” มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ค่าตอบแทนที่ได้รับจะสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของอาชีพอื่น ๆ ในอังกฤษถึง 3 เท่า และมีเพียงเยอรมนีประเทศเดียวเท่านั้น ที่ค่าตอบแทนของหมอสูงกว่าอังกฤษ
ปัจจุบันแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปภายใต้ระบบ NHS ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าปีละ 1.13 แสนปอนด์ (4.4 ล้านบาท) ต่อปี สูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ในอังกฤษประมาณ 3.1 เท่า
อย่างไรก็ตาม มากกว่า 1 ใน 3 ของหมอครอบครัว เลือกที่จะ “เลิก” ทำงานในโรงพยาบาล - คลินิก ของรัฐ และ 6 ใน 10 เลือกที่จะเกษียณอายุตัวเองก่อนอายุ 60 จนทำให้อังกฤษขาดหมอประจำครอบครัวอย่างมาก
ตัวเลขล่าสุดที่สำรวจ พบว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หมอ GP มากกว่า 1,000 คน ลาออกจากการทำงาน Full Time ภายใต้ระบบ NHS ทำให้คนไข้ในอังกฤษต้องใช้เวลา “นัดหมอ” นานขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน หมอ GP ที่มีอยู่ ก็ถูกจำกัดเวลาในการพบคนไข้ เพื่อลดระยะเวลาการรอคิว โดยจากการสำรวจเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าคนไข้ทั่วอังกฤษ มีเวลาเฉลี่ยในการพบหมอครอบครัว เพียงคนละ 9.2 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเวลาพบแพทย์ที่น้อยที่สุด หากเทียบกับประเทศที่ “พัฒนาแล้ว” อื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจากราชวิทยาลัยแพทย์ GP ในการแก้ปัญหาดังเปล่า โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องเพิ่มเวลาในการพบแพทย์ทั่วไป ให้ได้อย่างน้อย 15 นาที และปัจจุบัน 9.2 นาที ถือว่าน้อยเกินไป
“ปกติคนไข้จะไม่มาหาหมอด้วยอาการป่วยอาการเดียว พวกเขาจะมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บที่มากกว่า 1 โรคเสมอ และถือเป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเรา ในการที่จะให้คำปรึกษา หรือวินิจฉัยโรคด้วยเวลาเพียงแค่นั้น” เฮเลน สโตกส์-แลมพาร์ด ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ GP ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Sun
แน่นอน นั่นทำให้แพทย์ GP จำนวนมากรู้สึกว่าทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ และ 2 ใน 3 ระบุว่า เวลาในการตรวจคนไข้ที่น้อยไปนั้น ทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณภาพการรักษา “ดรอปลง” โดยปัจจุบันความต้องการพบแพทย์ในระบบมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ความต้องการพบแพทย์มากขึ้นถึง 16% ในขณะที่จำนวนแพทย์ซึ่งลาออกจากระบบกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รายงานล่าสุด พบว่า 1 ใน 10 ของคนไข้ถูกบีบให้รออย่างน้อย 3 สัปดาห์ หากจะนัดแพทย์ประจำครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็พบว่าคนไข้มาพบแพทย์ด้วยการปรึกษาความผิดปกติในร่างกายอย่างน้อย 2.5 อาการ ต่อการนัดพบแพทย์แต่ละครั้ง ซึ่งทำให้แพทย์ไม่มีเวลาเพียงพอในการซักอาการได้ทั้งหมด
ริชาร์ด วัลเทรย์ จากสมาพันธ์การแพทย์อังกฤษ บอกว่า หมอประจำครอบครัวจำนวนมาก ต้องทำงานล่วงเวลาเกิน “สัญญาจ้าง” และเริ่มจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาเอง
จอยซ์ โรบินส์ จากเครือข่ายผู้ป่วย บอกว่า ขณะนี้ระบบสุขภาพของอังกฤษกำลัง “สิ้นหวัง” จากจำนวนหมอประจำครอบครัวที่น้อยลงเรื่อย ๆ และคิวตรวจของคนไข้ ก็ยาวขึ้นอย่างไม่มีจุดหมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่า แม้รัฐบาลจะจ่ายให้หมอมากขนาดนั้น แต่หมอก็ยังเลือกที่จะลาออก นั่นทำให้น่ากังวลเป็นอย่างมากว่าระบบ NHS จะเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
รัฐบาลบอริส จอห์นสัน ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศแผนปฏิรูประบบ NHS ทั้งระบบ โดยตั้งใจจะอัดงบประมาณด้านสุขภาพเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 3.4% ภายใน 5 ปีข้างหน้า และหนึ่งในแผนของการปฏิรูป NHS ก็คือการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการสร้างสถานพยาบาลขนาดเล็ก - กลาง เพิ่มอีกอย่างน้อย 1.4 หมื่นแห่ง
ขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มสวัสดิการให้กับหมอในระบบ เพื่อลดปรากฏการณ์ “สมองไหล” หลังจากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาก็คือการ “นำเข้า” หมอจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาทำงานในอังกฤษเพิ่ม เพื่อให้ปริมาณหมอ GP เพียงพอกับความต้องการ โดยรัฐบาลจอห์นสัน จะอำนวยความสะดวกให้ทั้งค่าตอบแทนพิเศษและวีซ่าพิเศษ โดย NHS คาดการณ์ว่าจะต้องนำเข้าหมอมากกว่า 6,000 คน ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ
ในเวลาเดียวกัน อังกฤษก็เผชิญกับวิกฤตพยาบาลสมองไหลไปแล้วรอบหนึ่ง จนรัฐบาลถึงขั้นต้องออกนโยบาย จ่ายทุนการศึกษาแบบให้เปล่าแก่นักเรียนพยาบาลปีละกว่า 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 1.98 แสนบาท) เพื่อเลี้ยงนักเรียนพยาบาลเหล่านี้ให้อยู่ในระบบต่อไป
ทั้งหมดนี้ ยังไม่มีอะไรการันตีว่าจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อย ก็ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่เรื่องระบบ“สุขภาพ” กลายเป็นนโยบายสำคัญของนักการเมือง แทนที่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องปากท้อง อย่างที่เป็นมาตลอด
แปลและเรียบเรียงโดย สุภชาติ เล็บนาค
แหล่งที่มา
3.Why NHS is front and centre of Queen's Speech www.bbc.com
ขอบคุณภาพจาก www.independent.co.uk
- 2576 views