แนวทางของสหราชอาณาจักรมีรายละเอียดชัดเจนถึงสิ่งที่จะต้องทำและที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้นโยบาย "อยู่ร่วมกับโควิด" ดูชอบธรรมในสายตาประชาชน เพราะมีทั้งกลุ่มที่ทนไม่ไหวกับมาตรการควบคุมการระบาดแล้วและต้องการกลับไปสู่ชีวิตปกติ ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่กังวลว่ายอดติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหากปล่อยการ์ดให้ตกโดยตั้งใจ แล้วภาระนั้นจะไปตกกับระบบสาธารณสุข

เหตุผลเรื่องความชอบธรรม (Rationale) จึงต้องเป็นสิ่งแรกๆ ที่บอกกล่าวกับประชาชนก่อน ก่อนที่จะลงไปสู่รายละเอียดว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรบ้างถึงจะอยู่กับโควิดได้ สองย่อหน้าแรกรัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงเริ่มต้นคำอธิบายด้วยการบอกก่อนว่า "พวกเรามีเกราะป้องกัน" เอาไว้รับมือแล้วเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ นั่นคือบอกว่า "วัคซีนจะยังคงเป็นด่านแรกในการป้องกันโควิด-19 ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดแผนการของรัฐบาลในการใช้ชีวิตและจัดการกับไวรัส"

ต่อมาในย่อหน้าที่สองของคำประกาศแนวทาง จึงอธิบายให้มั่นใจว่า "สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้ใช้วัคซีน Pfizer และ Oxford-AstraZeneca ซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ฉีดวัคซีน 50 % ของประชากรทั้งหมด และได้จัดทำโครงการฉีดบูสเตอร์ที่เร็วที่สุดในยุโรป" ข้อความนี้เป็นการย้ำให้ประชาชนตระหนักว่า ประเทศนี้มีการเตรียมการเอาไว้แล้วและการเตรียมการนั้นประสบความสำเร็จงดงาม ซึ่งต้อง "ขอบคุณโครงการการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นในประชากร และเครื่องมือต้านไวรัสและการรักษาของเรา สหราชอาณาจักรอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการเรียนรู้วิธีใช้ชีวิตร่วมกับโควิด และยุติกฎระเบียบของรัฐบาล"

เหตุผลเรื่องความชอบธรรม (Rationale) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็คือ "เรามีโครงการวัคซีนที่ประสบความสำเร็จ" ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้แนวทางอยู่ร่วมกับโควิด แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ รัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่บีบประชาชนให้รับเข็มกระตุ้นไปเรื่อยๆ เหมือนบางประเทศจนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้าน ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ในหลายประเทศของยุโรป จนทำให้รัฐบาลต่างๆ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้สักที เพราะประชาชนไม่ยอมฉีดเข็มกระตุ้นครั้งที่ 3 หรือแม้แต่ครั้่งที่ 2 เพราะความรู้สึกว่ารัฐบาลเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการกับการรักษาสุขภาพของประชาชนมากเกินไป ดังนั้น การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรบอกว่า "โครงการการฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล" จึงไม่ใช่แค่การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเท่านั้น แต่เป็นความชาญฉลาดที่จะไม่บีบประชาชนมากเกินไป

วิธีการจัดการของสหราชอาณาจักรก็คือพวกเขาทำให้การฉีดบูสเตอร์มีลักษณะเหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยบอกว่า "โครงการฉีดบูสเตอร์ประจำปีฤดูใบไม้ร่วงอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำเพิ่มเติม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับใช้โปรแกรมบูสเตอร์ช่วงฤดูใบไม้ผลิจะระบุไว้ในเร็วๆ นี้ รัฐบาลจะยังคงได้รับคำแนะนำจาก JCVI (คณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน) เกี่ยวกับโครงการวัคซีนในอนาคต"

จะเห็นว่าทางการสหราชอาณาจักรพยายาม "ซื้อเวลา" เพื่อให้ประชาชนได้ลดความตึงเครียดลง เพราะประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้ต่อต้านวัคซีน (กลุ่ม anti-vax) แต่ก็รู้สึกไม่อยากถูกบังคับมากเกินไป (กลุ่ม pro-choice) ดูเหมือนว่าด้วยการกระกาศออกมาแบบมีทางเลือกแบบนี้จะถูกใจกลุ่ม pro-choice และลดโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะถูกดึงไปเข้าร่วมกลุ่ม anti-vax

เราจะเห็นแนวทางแบ่งรับแบ่งสู้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรจาก "เสาหลักทั้งสี่" (four main pillars) ที่ได้ประกาศออกมา ซึ่งมีดังนี้

• การยกเลิกข้อจำกัดภายในประเทศในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมพฤติกรรมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นผ่านคำแนะนำด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับวิธีการจัดการโรคติดต่ออื่นๆ ที่มีมาช้านานแล้ว (ด้วยวิธีการนี้คือการทำให้การระบาดใหญ่กลายเป็นโรคประจำถิ่นนั่นเอง)

• การปกป้องผู้อ่อนแอผ่านการแทรกแซงและการทดสอบทางเภสัชกรรม ให้สอดคล้องกับไวรัสอื่นๆ (เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะให้น้ำหนักกับกลุ่มเสี่ยง แต่ก็มุ่งปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เหมือนกับผู้ติดเชื้อไวรัสอื่นๆ)

• รักษาความยืดหยุ่นต่อสายพันธุ์ต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง การวางแผนฉุกเฉิน และความสามารถในการนำแนวปฏิบัติหลักกลับมาใช้อีกครั้ง เช่น การฉีดวัคซีนจำนวนมากและการทดสอบในกรณีฉุกเฉิน (ในกรณีที่พบการกลายพันธุ์อีกครั้ง รัฐบาลจะไม่รีรอที่จะใช้วิธีการเดิมในการสำกัดกั้นการระบาด แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีก เพียงแต่เอ่ยถึง 2 มาตรการหลังที่ใช้เป็นสเต็ปแรกก่อนจะประกาศการอยู่ร่วมกับโควิด คือระดมฉีดวัคซีนและระดมตรวจเชื้อในวงกว้าง)

• ให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมและโอกาสจากการตอบสนองต่อโควิด-19 รวมถึงการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (ซึ่งหมายถึงความพร้อมที่จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและยารักษาที่มีศักยภาพเมื่อโรคกลับมาอยู่เนืองๆ แม้ว่าจะทำให้มันเป็นโรคประจำถิ่นและเริ่มอยู่กับโควิดแล้วก็ตาม เพราะอย่าลืมว่าโรคนี้ก็มีศักยภาพที่จะทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน อาจจะเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในอนาคต ซึ่งทำให้ผู้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนในสหรัฐอมริกาแต่ละปี แต่ผู้คนก็ไม่ได้ตื่นตระหนกกับมันและไม่ต่อต้านการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล)

คำอธิบาย/วิเคราะห์ในวงเล็บจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นเมื่อเรามาดูกันที่คำแนะนำลำดับถัดมาของรัฐบาลซึ่งบอกว่า "ประชาชนควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขต่อไป เช่นเดียวกับโรคติดต่อทั้งหลาย เช่น ไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และช่วยปกป้องครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งรวมถึงการเปิดให้อากาศถ่ายเทเมื่อมีการชุมนุมในบ้าน การสวมหน้ากากอนามัยในที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านและในที่ปิด ซึ่งคุณสัมผัสกับผู้คนที่ตามปกติแล้วไม่ได้พบเจอเป็นประจำ และล้างมือ" ข้อแนะนำเหล่านี้ตอกย้ำว่าสหราชอาณาจักรปฏิบัติกับโควิด-19 เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว เพียงแต่ยังมีข้อควรระวังที่มากกว่าไข้หวัดใหญ่ เช่น การแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย

แต่สิ่งที่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกับโควิดที่ชัดเจนที่สุดคือการยกเลิกการตรวจเชื้อฟรี

รัฐบาลสหราชอาณาจักรแถลงดังนี้ว่า "ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน รัฐบาลจะยุติการตรวจเชื้อผู้ที่มีอาการและผู้ที่ไม่แสดงอาการสำหรับบุคคลทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะมีการตรวจกับผู้แสดงอาการอย่างจำกัดสำหรับกลุ่มเสี่ยงจำนวนน้อย และเราจะระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่ากลุ่มใดจะมีสิทธิ์ในเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ดูแลทางสังคมยังคงได้รับบริการตรวจฟรีหากมีอาการ เรากำลังทำงานร่วมกับผู้ค้าปลีกเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ต้องการซื้ออุปกรณ์ตรวจเชื้อได้"

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งสหราชอาณาจักรเผยว่ารัฐบาลของเขาไม่สามารถแบกรับต้นทุนมหาศาลจากการตรวจเชื้อโควิดฟรีให้กับประชาชนได้อีก และหลังจากนั้นก็มีคำประกาศยกเลิกในที่สุด ตามรอยบางประเทศในยุโรปที่ยกเลิกด้วยเหตุผลเดียวกัน

การยกเลิกการตรวจเชื้อฟรีเป็นการสะท้อนการอยู่ร่วมกับโควิดอย่างแท้จริง เพราะนี่คือขั้นตอนต่อมาหลังจากที่หสราชอาณาจักรยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์แล้วหันมาปล่อยให้ประชาชนเคลื่อนที่อย่างเสรีขึ้น เพียงแต่ต้องเข้ารับการตรวจเป็นระยะ หากพบเชื้อก็จะทำการแยกตัวไป โดยที่การตรวจเชื้อทำให้ฟรี แต่ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ไม่สามารถลงทุนกับการตรวจเชื้อฟรีได้ตลอดไป

นอกจากนี้การตรวจเชื้อยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ติดเชื้อจะใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ พวกเขาจะต้องถูกกักตัว และรักษาในที่ห่างไกลผู้อื่น แต่หลังจากนี้ไม่ว่าจะติดหรือไม่ติดก็ตามจะไม่มีการตรวจฟรีและไม่มีการบังคับ เท่ากับว่าผู้ที่มีอาการก็จะสามารถอยู่ร่วมกับคนไม่ติดเชื้อได้ (ตราบที่คนๆ นั้นไม่ได้บอกว่าเขาติดเชื้อ)

เหมือนกับตอนเริ่มต้น ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มด้วยเหตุผลเรื่องความชอบธรรม (Rationale) ในการอยู่ร่วมกับโควิด ในตอนท้าย รัฐบาลก็ให้เหตุผลเรื่องความชอบธรรม (Rationale) อีกครั้งกับการยกเลิกการตรวจฟรี ซึ่งไม่มีเหตุผลไหนจะหนักแน่นไปกว่การชี้ชวนให้ประชาชนเห็นว่าการตรวจฟรีนั้นใช้งบประมาณสูง ขณะที่เชื้อไม่ได้รุนแรงอีกต่อไปแล้ว ต้นทุนของการทำแบบนี้จึงไม่สมเหตุผล คำแถลงชี้ให้เห็นก่อนว่า "โครงการ Test & Tracee มีมูลค่า 15.7 พันล้านปอนด์ในปี 2021/22 ปัจจุบัน โอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักและรุนแรงน้อยลง ยังมีระดับภูมิคุ้มกันสูงทั่วประเทศ และมีกลยุทธ์ที่หลากหลาย รวมถึงวัคซีน การรักษา และความรู้ด้านสาธารณสุข"

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ "คุณค่าของเงินของผู้เสียภาษีไม่ชัดเจน" เพื่อบอกประชาชนเจ้าของภาษีว่าเงินของพวกเขาไม่ควรใช้กับโครงการนี้อีก เพราะมันไม่คุ้มกับเงินที่พวกเขาเสียไปผ่านภาษี ดังนั้น "การตรวจเชื้อฟรีควรเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงอย่างตรงเป้า"

นี่คือการวิเคราะห์แนวทางการหวนกลับสู่สภาพปกติที่ประกาศไว้โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร

 

อ้างอิง

• "Prime Minister sets out plan for living with COVID". (21 February 2022). GOV.UK.

ภาพ

https://www.gov.uk/government/speeches/pm-statement-on-coronavirus-20-march-2020)