การล็อคดาวน์เกิดขึ้นทั่วโลกหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ยังไม่มีประเทศไหนที่เกือบจะต้อง "ชัตดาวน์" หรือระบบปิดตัวจนเกือบล่มเหมือนกับสหราชอาณาจักร ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากระบบตรวจสอบความเสี่ยงที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์ (จนเกินไป?) จนทำให้มันเตือนผู้คนหลายแสนคนในกักตัวเองเกือบจะพร้อมๆ กัน
เหตุมันเกิดขึ้นในช่วงที่อังกฤษกำลังประกาศจะเลิกล็อคดาวน์ หรือที่เรียกกันว่าวันเสรีภาพ (Freedom day) ซึ่งมีกำหนดการณ์วันที่ 19 ก.ค. เมื่ออังกฤษคลายล็อคด้วยความระมัดระวังโดยยังให้ประชาชนใช้แอปติดตามการติดต่อของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ซึ่งการทำงานของมันไม่ซับซ้อน เพราะจะส่งสัญญาณเตือนให้คนๆ นั้นกักตัวเองเมื่อไปใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อหรือตกอยู่ในความเสี่ยง เสียงเตือนจะดังเป็นเสียง "ปิ๊ง" หรือ “ping”
แอปของ NHS เรียกกันว่า "Covid-19 app" ประชาชนสามารถดาวน์โหลดลงสมาร์ทโฟนได้ วิธีการทำงานของมันก็คือเมื่อผู้ใช้มีผลการตรวจเชื้อเป็นบวกและยืนยันแล้วแอปจะใช้เทคโนโลยีบลูทูธเพื่อระบุผู้ใช้รายอื่นซึ่งในวันก่อนหน้านั้นเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อนานมากพอที่จะเสี่ยงคือประมาณ 15 นาที จากนั้นแอปจะแจ้งเตือนบุคคลเหล่านั้นและขอให้พวกเขากักตัวเองเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ใช้แอปไม่จำเป็นต้องกักตัวก็ได้ เพราะไม่ได้บังคับจะบังคับให้กักตัวเฉพาะผู้ที่ผ่านการตรวจการติดเชื้อด้วยตนเอง และยังไม่มีการบังคับให้ดาวน์โหลดแอปด้วย (1) แต่ปรากฎว่าผู้ที่ดาวน์โหลดมาใช้มีจำนวนมากและยังเชื่อถือเสียงเตือน "ปิ๊ง" ในฐานะเป็นคำสั่ง
ดังนั้น ก่อนจะถึงวันแห่งเสรีภาพ แอป “ping” ก็ก่อเรื่องใหญ่ขึ้นเสียก่อน ในช่วงต้นสัปดาห์ของเดือน ก.ค. มีการส่งการแจ้งเตือน 530,126 รายการผ่านแอปในสัปดาห์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 4 - วันที่ 7 กรกฎาคม หรือมีผู้คนมากกว่าครึ่งล้านในอังกฤษและเวลส์ได้รับคำสั่งให้กักตัวเองโดยแอป NHS ในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่บันทึกไว้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 นับว่าน่าตกใจมากหากจะพิจารณาวาสหราชอาณาจักรจะคลายล็อคในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ต่อจากนั้น (2)
ณ วันที่ 20 ก.ค. ผู้คนประมาณ 1.73 ล้านคนในสหราชอาณาจักร (ที่มีประชากร 67 ล้านคน) ต้องถูกกักตัว ในจำนวนนี้่ผู้คนเกือบ 690,000 คนในอังกฤษและเวลส์ได้รับคำสั่งจากแอปให้ต้องกักตัวในช่วงสัปดาห์รองสุดท้ายของเดือน (นับถึงวันที่ 21 ก.ค.) เพิ่มขึ้น 11 % จาก 620,000 ในสัปดาห์ก่อนหรือช่วงกลางสัปดาห์เดือน ก.ค. ที่อังกฤษเริ่มคลายล็อคดาวน์ ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความโกลาหลไม่สมกับเป็นช่วงเวลาแห่งการประกาศ "วันแห่งเสรีภาพ" เลยแม้แต่น้อย
เสียง "ปิ๊ง" หรือ “ping” ที่ทำให้ผู้คนต้องกักตัว ส่งผลให้สหราชอาณาจักขาดแคลนผู้คนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งๆ ที่เพิ่งคลายล็อคดาวน์ ความโกลาหลนี้จึงถูกขนานนามว่า "Pingdemic" ซึ่งล้อกับคำว่า "Pandemic" กับเสียง "ping" ให้ความหมายใหม่ของวุ่นวายสับสนที่เกิดจากแอปที่เตือนการระบาดใหญ่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคธุรกิจ
เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้ประกาศว่าพวกเขาต้องปิดร้านค้าทั่วประเทศเนื่องจากจำนวนพนักงานที่ขาดงานซึ่งทำให้พวกเขาต้องกักตัว ในบางพื้นที่ พนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้มากถึง 30% ได้รับแจ้งจาก NHS บางบริษัทรายงานว่าไม่มีพนักงาน 15-20% เนื่องจากพนักงานต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ไม่ว่าจะติดเชื้อโควิดหรือติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน (3)
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษ (CBI) ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ระบุเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม กล่าวว่าว่าโรคระบาดใหญ่กำลังคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่โทนี แดงเกอร์ (Tony Danker) ผู้อำนวยการของ CBI ก็ยังบอกด้วยว่า "แนวทางการกักตนเองในปัจจุบันกำลังปิดตัวเศรษฐกิจแทนที่จะเปิด นี่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลตั้งใจไว้อย่างแน่นอน" (4)
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผู้ผลิตรถยนต์ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน อนุญาตให้คนงานของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับการยกเว้นจากการกักกัน เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานเป็นอุปสรรคต่อการผลิต หลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์ในสหราชอาณาจักรผลิตรถยนต์ 69,097 คันในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นยอดรวมที่แย่ที่สุดเป็นอันดับสองของเดือนนับตั้งแต่ปี 2496 ตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์และผู้ค้า (1)
ผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์รถยนต์รายหนึ่งบอกกับ BBC Radio 4 ว่าธุรกิจของเขา "เกือบจะชัตดาวน์" เพราะจากพนักงาน 15 % ที่แยกตัวหลังจากถูกส่งคำสั่ง ping โดยแอปของ NHS จำนวนนี้ 40 % อยู่ในทีมบำรุงรักษาของบริษัททำให้งานด้านนี้คั่งค้าง (5)
มีรายงานว่า ไนท์คลับอังกฤษ 25% เสี่ยงที่จะต้องปิดกิจการตลอดไปเพราะพิษสงของ 'Pingdemic' และมีรายงานว่าพนักงานบาร์บางแห่งได้รับคำสั่งให้ปิดคำเตือนจากแอปด้วยซ้ำ
แม้แต่เจ้าของแอปคือ NHS ก็ยังเตือนว่าการแจ้งเตือนของแอปทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลขาดงานเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัญหางูกินหาง เพราะเมื่อบุคลากรแพทย์ไม่เพียงพอ การดูแลผู้ป่วยก็ไม่ครบวงจร และในตอนนั้นการระบาดของเชื้อเดลต้าในสหราชอาณาจักรยิ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปด้วย
และที่ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันก็ยังถูกกักกันหลังจากรับ "คำสั่ง" โดยแอปในขณะที่ความวุ่นวายนี้ทำให้รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักให้แก้ปัญหา เมื่อวันที่ 21 ก.ค. จอห์นสันกล่าวว่า “ผมอยากจะขอโทษสำหรับความไม่สะดวกที่เกิดจากการแจ้งเตือนเหล่านี้ [... ] แต่ผมขอย้ำว่าการแยกตัวเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค” (3)
แต่ในที่สุดในสัปดาห์นั้นเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องตาลีตาลานเร่งจัดตั้งระบบเพื่อให้คนงานหลักไม่ต้องถูก 'Pingdemic' แต่จะทำการตรวจเชื้อรายวันมากกว่าที่จะแยกตัวเป็นเวลา 10 วันเพราะกลัวว่าเศรษฐกิจหลักของประเทศจะชัตดาวน์ โดยตอนแรกจะอนุญาตให้พนักงานประมาณ 10,000 คนในสถานที่จำหน่ายอาหาร 500 แห่ง และ NHS และเจ้าหน้าที่ดูแลสวัสดิการสังคมบางคนได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจเชื้อทุกวันแทนการแยกตัว แต่ต่อมา เสนอให้เพิ่มตำรวจ พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่ชายแดน การขนส่งและการขนส่งสินค้าเข้าโครงการยกเว้นด้วย พร้อมกับจัดสถานที่จรวจเชื้อสำหรับสถานที่ทำงานอีก 200 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์รองสุดท้ายของเดือน ก.ค. มาตรการยกเว้นยังถือว่าจำกัดอยู่ เพราะคนงานที่สำคัญที่สุดนอกภาคสุขภาพและอาหารยังคงต้องปฏิบัติตามกฎการแยกตัวจนถึงวันที่ 16 ส.ค. เป็นอย่างน้อย และกระบวนการยกเว้นก็ค่อนข้างจำกัด รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทใน 16 ภาคส่วนได้รับอนุญาตให้ยื่นคำร้องโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐเพื่อยกเว้นการถูกแยกตัวสำหรับพนักงานที่ได้รับการเสนอชื่อมาแต่จะอนุญาตเฉพาะในสถานการณ์ที่ร้ายแรงและพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ผลกระทบร้ายแรงต่อการส่งมอบบริการที่จำเป็น" หรือ "สำคัญ" กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การป้องกันประเทศ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ” เท่านั้น (3)
กว่าที่สหราชอาณาจักรจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก็ต้องรอถึงกลางเดือน ส.ค. หลังจากนั้นความวุ่นวายของ 'Pingdemic' ก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ เนื่องจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น และตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. เป็นต้นไป ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์จะไม่ต้องแยกตัวอีกต่อไปเมื่อถูกระบุว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก ทำให้ไม่ต้องอาศัยแอปนี้สั่งให้กักตัวอีก
แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือหลังจากเกิด 'Pingdemic' ในเดือน ก.ค. ชาวสหราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากลบแอปออกเพื่อป้องกันความวุ่นวายและเพราะความเชื่อว่าแอปออกคำตือนด้วยความ "ตื่นตูม" (sensitive) เกินไป แบบสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. โดย YouGov พบว่า 1 ใน 5 ของชาวสหราชอาณาจักรที่มีแอปนี้ได้ปิดฟีเจอร์การติดตามผู้ติดต่อผู้ติดเชื้อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องกักตัวเอง
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อถึงสัปดาห์รองสุดท้ายของเดือน ส.ค. แอป NHS Covid-19 ก็ได้รับการอัปเดตเพื่อให้ผู้ใช้เพิ่มสถานะการฉีดวัคซีนเพื่อไม่ต้องรับคำสั่งให้กักตัวเองเพียงแต่ต้องรับการตรวจเชือ้เท่านั้น
วอล์ฟกัง เอมเมอริช (Wolfgang Emmerich) ผู้ก่อตั้งบริษัท Zühlke Engineering ซึ่งช่วยสร้างแอปกล่าวกับ Digital Health News เกี่ยวกับกระแสไม่พอใจแอปที่ทำให้เกิด 'Pingdemic' เขาบอกว่าแอปทำงาน "ตามที่เราออกแบบไว้"
“จำนวน ping นั้นสัมพันธ์กับจำนวนการติดเชื้อทั้งหมดอย่างเคร่งครัด ดังนั้นเหตุผลที่มีการ ping มากขึ้นก็เพราะมีไวรัสอยู่รอบๆ มากขึ้น” เอมเมอริช กล่าวกับ Digital Health News (6)
ที่น่าสนใจก็คือ จากการวิเคราะห์โดยกลุ่มนักวิเคราะห์อิสระจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่าแอปสามารถป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากถึง 2,000 รายต่อวันในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือนก.ค. หรือรวมทั้งหมด 50,000 ราย โดยอิงจากการปฏิบัติตามคำแนะนำในการกักกันตัว 60%
อ้างอิง
1. Hipwell, Deirdre. Shepherd, Damian. (August 2, 2021). "What’s a ‘Pingdemic’ and Why Is the U.K. Having One?". Bloomberg.
2. Blackall, Molly. (July 15, 2021). "NHS Covid app tells more than half a million people to self-isolate in one week – the highest figure yet". INEWS.
3. Mason, Rowena. (July 24, 2021). "Covid: England facing weeks of ‘pingdemic’ disruption to services and food supply". The Guardian.
4. Seibt, Sébastian. (July 24, 2021). "The ‘pingdemic’: How UK's Covid-19 app has created a health headache". France 24.
5. "Pingdemic: 'We got close to complete shutdown'". (August 16, 2021). BBC.
6. Downey, Andrea. (August 12, 2021). "NHS Covid-19 app engineer talks updates, the ‘pingdemic’ and data". Digital Health News.
ภาพจาก - @NHSCOVID19app
- 31 views