กาลครั้งหนึ่ง นานหรือไม่นานไม่รู้ ระบบสุขภาพ เมืองสารขันธ์ได้ประกาศนโยบายทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย และให้แต่ละที่แต่ละคนตัดสินใจกันตามอำเภอใจว่าจะเข้าร่วมนโยบายนี้หรือไม่ก็ได้

เห็นฝรั่งมังค่าเค้าใช้นโยบายแบบนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หวังจะกระตุ้นให้คนงานทำงานมากๆ จะได้ผลผลิตมากๆ ขายได้กำไรมากๆ

ฝ่ายกำหนดนโยบายจึงชื่นชอบ อยากให้ลูกน้องของเขา ทำตามแบบธุรกิจอุตสาหกรรมของฝรั่งตาน้ำข้าวบ้าง แถมงานวิจัยมากมายของฝรั่งก็รับประกันว่า จะได้ผลผลิตมากขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้นชัวร์ๆ

กิจการของระบบสุขภาพเมืองสารขันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิต และความเป็นความตายของคน แถมดันไม่ได้อยู่กันแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมที่แสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง โดยที่ในอดีตที่ผ่านมา คนงานก็มีจำกัด แต่คนที่มาให้ช่วยดูแลนั้นเยอะเกินกว่าที่จะดูแลไหว แต่คนงานทุกระดับก็มุ่งมั่นทำงานเต็มที่ อดมื้อกินมื้อ สมดุลชีวิตก็ไม่ค่อยมี ทรัพยากรสนับสนุนก็จำกัดจำเขี่ย ในระยะหลังๆ ก็ไม่ค่อยมีตำแหน่งงานที่เป็นหลักเป็นฐานให้บรรจุ สวัสดิการด้านต่างๆ ก็เริ่มโดนบีบคั้น อย่างไรก็ตาม คนงานส่วนใหญ่ก็ไม่ปริปากบ่น เพราะตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่เข้ามาเรียนด้านนี้ว่า อยากดูแลคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ฝ่ายกำหนดนโยบายรู้สึกครึกครื้น คิดว่านโยบายฝรั่งจะช่วยทำให้คนงานในกิจการทำงานกันเต็มสตีม และใช้เป็นตะแกรงร่อน หาคนงานที่ขี้เกียจ เพื่อคัดทิ้งไป

ถือโอกาสประกาศนโยบายนี้อย่างเงียบเชียบ สร้างความตื่นเต้น และหวาดกลัวให้กับเหล่าคนงาน และเหล่าผู้สื่อข่าวเมืองสารขันธ์อย่างมาก

ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม

แต่ลองพลิกหาข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อมาทำนายอนาคตกัน ดีไหม ?

จีนเน็ท เทเลอร์ และคณะ เคยทำการสำรวจกลุ่มคนออสเตรเลีย และมาเลเซีย จำนวน 300 คน ที่เป็นคนงานภาครัฐ ว่านโยบายทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยนั้น ทำให้พวกเค้าทำงานดีขึ้นหรือไม่ ? อย่างไร ?

สิ่งที่นักวิจัยพบคือ เฮ่ยๆ นโยบายนี้ไม่ได้มีผลต่อการทำงานตามที่หวังไว้แฮะ แต่ตัวคนงานภาครัฐกลับระบุกันว่า เค้าต้องการการเสริมพลังด้านจิตใจ การสร้างความรู้สึกอินกับงานและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ รวมถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และลดการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้พวกเค้าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (1)

ยัง ยังไม่พอ คนที่สนับสนุนนโยบายนี้ เค้าชอบแบโพยงานวิจัยอื่นๆ เช่น ผลของนโยบายแบบนี้ในการดูแลรักษาโรคต่างๆ ในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ซึ่งพบชัดเจนในฝั่งตะวันตกว่า นโยบายนี้ในภาพรวมช่างดีเหลือหลาย แต่ช้าก่อน ดันไม่มีใครเอางานที่จำแนกแยกแยะผลที่ได้นั้นตามลักษณะประชากรเลย

ดังนั้นจึงขอแชร์ให้เห็นว่า มิลเลทท์ และคณะ เค้าศึกษาผลของการดูแลรักษาโรคเบาหวานว่า หากใช้นโยบายนี้ล่อหลอกตัวผู้ป่วยแล้ว จะได้ผลอย่างไร นักวิจัยเค้าระบุให้เห็นว่า ผลที่ได้จากการดำเนินนโยบายนั้นมีนัยสำคัญทางคลินิกน้อย แถมยังพบว่าเกิดความแตกต่างกันระหว่างเชื้อชาติ โดยคนชาติตะวันตกจะให้ผลที่ดีกว่า ในขณะที่คนเชื้อสายแอฟริกา และเอเชียนั้นไม่ค่อยได้ผล และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบด้านลบเสียด้วยซ้ำ

ทางมิลเลทท์ และคณะ ได้ทิ้งท้ายไว้ให้นักกำหนดนโยบายสาธารณะได้ระมัดระวัง หากคิดจะใช้นโยบายนี้สำหรับเรื่องการดูแลรักษาแบบที่เค้าศึกษามา (2)

เดี๋ยวจะหาว่า เอาแต่งานวิจัยมาเสนอ เลยอยากยกบทความของกูรูด้านการจัดการ ที่ตีพิมพ์ในวารสารดังอย่าง Harvard Business Review มาให้ดูด้วยว่า แอนดรูว์ ไรอัน และคณะ ได้เขียนถึงความสงสัยเกี่ยวกับนโยบายนี้ในระบบดูแลสุขภาพว่า ข้อควรระวังอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายนี้คือ ความลำบากในการจัดการระบบให้สามารถดำเนินนโยบายได้ตามที่หวัง แถมหากดำเนินนโยบายได้ ก็จะเกิดผลทำให้แรงบันดาลใจของคนวิชาชีพสุขภาพลดน้อยถอยลง และจะก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างของทั้งระบบ ที่จะมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (3)

ในขณะที่ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้อีกสองทศวรรษ ก็เคยมีนักวิชาการเตือนเรื่องนี้ไว้ว่า กลวิธีการใช้เงินล่ออาจไม่สำเร็จ และอาจก่อโทษอย่างมากตามมา ดังที่อัลฟี่ โคห์น ได้ระบุไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review เช่นกันว่า กลวิธีใช้เงินล่อ ให้ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยจะไม่ได้ผล จากหลายเหตุผล ได้แก่ เงินรางวัลที่ล่อจะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน การได้มาซึ่งเงินรางวัลมักไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือที่มาของผลผลิตที่วัด เงินรางวัลจะนำไปสู่พฤติกรรมการไม่อินกับเนื้องาน รวมถึงจะทำให้คนพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิต ซึ่งหากเราคิดต่อยอดไปถึงกิจการดูแลรักษาคน ก็คงพอเดาได้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เคสผู้ป่วยยากๆ ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของคนดูแลที่มองจำนวนผลผลิตเป็นที่ตั้ง เพราะนอกจากใช้เวลาดูแลมากแล้ว ยังมีความเสี่ยงด้านต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงมีโอกาสโดนโบ้ยไปให้ผู้อื่น (4)

นอกจากนี้ นักวิชาการทั้งแวดวงสุขภาพ และนอกวงสุขภาพได้มีการแสดงทรรศนะที่คัดค้านนโยบายนี้ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น  Wall Street Journal เมื่อ 2 ปีก่อน ที่ได้เตือนไว้เช่นกันว่า การทำตามมาตรการดังกล่าวนั้น จะสวนกระแสการบ่มเพาะทัศนคติตั้งแต่ดั้งเดิมของวิชาชีพสุขภาพให้หันมาเอาเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง แทนที่จะมุ่งเรื่องสุขภาพของประชาชน (5)

เอ๊ะ...อ่านมาถึงตรงนี้แล้วระบบสุขภาพของ เมืองสารขันธ์จะเป็นอย่างไรต่อไป หลายคนคงสงสัย และอยากติดตามอย่างใกล้ชิดกระมัง

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

1. Taylor J et al. The Impact of Pay-for-Performance Schemes on the Performance of Australian and Malaysian Government Employees. Public Management Review, 2013; 15(8):1090-1115.

2. Millett C et al. Impact of Pay for Performance on Ethnic Disparities in Intermediate Outcomes for Diabetes: A Longitudinal Study. Diabetes Care, 2009: 32(3):404-9.

3. Ryan A et al. Doubts About Pay-for-Performance in Health Care. Harvard Business Review 2013. Available online at: https://hbr.org/2013/10/doubts-about-pay-for-performance-in-health-care/

4. Kohn A. Why Incentive Plans Cannot Work. Harvard Business Review, Sep-Oct 1993. Available online at: https://hbr.org/1993/09/why-incentive-plans-cannot-work

5. Should Physician Pay Be Tied to Performance? Available online at: http://www.wsj.com/articles/SB10001424127887323528404578454432476458370