ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ที่ยกตัวอย่างการพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส จากคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาใน รพ.เอกชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเมดิคอลฮับ โดยระบุว่า เงินที่ได้จากธุรกิจนี้จะดูเล็กน้อยไปถนัดตา หากเกิดการระบาดของโรครุนแรง และในเมื่อไม่สามารถยับยังเมดิคอลฮับได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะกฎหมายที่เรียกเก็บ "ค่ารักษาความมั่นคงทางสุขภาพของสาธารณะ" จากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เพื่อมาเป็นทุนสำรองภาครัฐสำหรับช่วยจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบายและการประกอบธุรกิจเหล่านั้นในสังคม
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
"รัฐ" ควรออกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บ "เงิน" จากระบบการประกอบธุรกิจที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพ/ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบธุรกิจนั้นๆ ประจำปี...ไม่ถือว่าเพียงพอ เพราะคนทั้งประเทศที่ประกอบ กิจการทั่วไปก็กระทำเช่นเดียวกัน โดยไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพ/ความปลอดภัยของประชาชนในสังคม
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ การมีนโยบายสนับสนุนให้ใช้ระบบสุขภาพไทยโกยเงินเข้าประเทศผ่านการรักษาคนที่มาจากต่างประเทศ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม "เมดิคอลฮับ (Medical hub)"
MERS CoV เข้ามาในประเทศได้เมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้เราเห็นกันชัดเจนว่า ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกระดับประเทศ และต้องมีการระดมสรรพกำลังทุกที่ทุกทาง พร้อมกับการที่รัฐต้องระดมทรัพยาการมากมายมหาศาลในการมาควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้
ผู้ดูแลอำนาจ "รัฐ" ต้องแสดงความโปร่งใส และจริงจังในการรักษาผลประโยชน์ของชาติเสียที
เงินที่ได้จากภาษีธุรกิจขายบริการสุขภาพ และจากตลาดหุ้นของธุรกิจสุขภาพนี้ จะดูเล็กน้อยไปถนัดตา หากเกิดการระบาดของโรครุนแรงในอนาคตจนสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป
หาก "รัฐ" ไม่สามารถยับยั้งเรื่อง "ตลาดหุ้น" และ "นโยบายเมดิคอลฮับ" ได้ ก็จำเป็นต้องทบทวนสาระนโยบาย และออกกฎหมายที่เรียกเก็บ "ค่ารักษาความมั่นคงทางสุขภาพของสาธารณะ" จากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เพื่อมาเป็นทุนสำรองภาครัฐสำหรับช่วยจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการควบคุมป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนโยบายและการประกอบธุรกิจเหล่านั้นในสังคม
การเก็บเงินดังกล่าวข้างต้นสามารถทำได้ทั้งที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการที่ได้รายได้จากคนไข้ต่างชาติ เพราะผู้ประกอบกิจการมีสิทธิเลือกที่จะให้บริการหรือไม่ก็ได้ โดยเก็บตามจำนวนที่บริการ หรือจะเป็นแบบรวบยอดรวมเป็น % ของกำไรสุทธิทั้งปี หากสัดส่วนการบริการคนต่างชาติเกินกว่าการดูแลคนที่พำนักภายในประเทศ
นอกจากนี้ "รัฐ" ยังสามารถที่จะเลือกออกกฎหมายเก็บจากตัวคนไข้ต่างชาติโดยตรงเช่นกัน ในรูปแบบของภาษีการใช้บริการสุขภาพในลักษณะ consumption tax ด้วยเหตุผลข้างต้นคือ ความเจ็บป่วยที่นำมารักษาในประเทศนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในประเทศ ตามคำฝรั่งที่เรียกว่า negative externalities (1)
เฉกเช่นเดียวกัน นักลงทุนในตลาดหุ้นที่เป็นกลุ่มที่เลือกจะประกอบกิจการในนโยบายดังกล่าว ย่อมควรที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการตัดทอนเงินปันผลประจำปี เพื่อการเดียวกัน เพราะการลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ เป็นการสนับสนุนทางอ้อมที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในสังคมได้
มองไปมองมาคงคล้ายคลึงกับที่ภาษีเหล้าและบุหรี่ แต่ต่างกันตรงที่นี่เป็นการจัดการความเสี่ยงระดับสาธารณะที่ชัดเจนในระยะยาว
สุดท้ายแล้ว แนวทางนโยบายตลาดการค้าเสรีคงยากที่จะมีกลไกใดมาห้ามได้ในยามนี้ แต่สามารถปรับกลไกกฎหมาย และระเบียบสังคม ให้ชัดเจน เพื่อให้ทั้งนักลงทุน และธุรกิจที่จะดำเนินกิจการ ได้เลือกว่า จะดำเนินชีวิตในแนวทางใด หากจะทำ ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องผลกระทบที่มีโอกาสเกิดแก่ประชาชนวงกว้าง แม้ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ตาม
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
1. http://mobile.nytimes.com/2010/06/06/business/06view.html?referrer=&_r=0
- 5 views