บทความจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นำเสนอผลการวิจัยจากต่างประเทศว่า ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางนั้น ระบบบริการการแพทย์ภาคเอกชนดีกว่ารัฐบาลจริงหรือไม่ ? ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยก็ขัดแย้งกับความเชื่อนี้ เมื่อพบว่า การดูแลรักษาที่ รพ.เอกชนมีจำนวนการผิดมาตรฐานการรักษา และผลการรักษาที่แย่กว่ารัฐบาล แต่มีความตรงต่อเวลา และการต้อนรับขับสู้ที่ดีกว่า ซึ่ง นพ.ธีระ ได้ชี้ว่า จะเห็นว่าได้ว่า กากเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย รพ.รัฐ ยังคงเป็นที่พึ่งได้เสมอ เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ตั้งต้นด้วย "ใจ" และมีประสบการณ์ที่มากมาย แม้ทรัพยากรไม่ได้เลิศหรูฟู่ฟ่า ไม่ได้มีความสะดวกสบาย ไม่ได้มีคำหวานๆ แต่เชื่อเถิดว่า เค้าเหล่านั้นไม่ได้คิดเป็นอื่น นอกจากช่วยเหลือผู้คน

รพ.เอกชนดีกว่าภาครัฐจริงหรือไม่ ?

นพ.ธีระ วรธนารัตน์
“Comparative Performance of Private and Public Healthcare Systems in Low- and Middle-Income Countries : A Systematic Review” เป็นงานวิจัยที่ทำการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ หรือเราเรียกในภาษาวิจัยว่า "Systematic review" ดำเนินการโดย Sanjay Basu, Jason Andrews, Sandeep Kishore, Rajesh Panjabi, David Stuckler

ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแพทย์ชื่อดังคือ Plos Medicine เมื่อ 19 มิถุนายน 2555

งานวิจัยนี้ต้องการตอบคำถามว่า ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางนั้น ระบบบริการทางการแพทย์ในภาคเอกชนดีกว่ารัฐบาลจริงหรือไม่ ?

คณะผู้วิจัยทำการประเมินข้อมูลตามปัจจัยหลักในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ได้แก่
การเข้าถึงบริการและการตอบสนองต่อปัญหา (accessibility and responsiveness); คุณภาพ (quality); ผลการรักษาพยาบาล (outcomes); การตรวจสอบได้ (accountability), ความโปร่งใส (transparency),การมีกฎระเบียบรองรับ (regulation); ความยุติธรรม (fairness and equity) และความคุ้มค่า(efficiency)

จากงานวิจัย 1,178 เรื่อง ได้ทำการกลั่นกรองคัดเลือกได้งานวิจัยที่เข้าข่ายในการนำมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น 102 เรื่อง

ผลการวิจัยพบว่า การดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนการผิดมาตรฐานการรักษา และผลการรักษาที่แย่กว่ารัฐบาล แต่มีความตรงต่อเวลา และการต้อนรับขับสู้ที่ดีกว่า

ในแง่ของประสิทธิภาพ หรือความคุ้มค่า (Efficiency) นั้นน่าสนใจ ผลการวิเคราะห์ พบว่าภาคเอกชนมีการดูแลรักษาที่คุ้มค่าน้อยกว่าภาครัฐ ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากการส่งตรวจ และการรักษาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น อันเป็นผลมาจากเรื่องรายได้ที่ได้จากการส่งตรวจหรือสั่งการรักษาที่ไม่จำเป็นเหล่านั้น

คณะผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาไว้ว่า ผลที่ได้จากการทบทวนอย่างเป็นระบบนี้บอกได้ว่า หลักฐานที่มีอยู่ขัดแย้งกับความเชื่อของผู้คนว่า เอกชนจะดีกว่ารัฐบาล...

ดังนั้นจึงต้องขอบอกตรงๆ ว่า...เมื่อใดที่มี "เงิน" มาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการดูแลรักษาชีวิตคน เมื่อนั้น เราจะพบว่า ความตรงไปตรงมา ความเป็นธรรม มาตรฐานการดูแลรักษา ก็จะมีโอกาสเสื่อมถอยด้อยค่าลงไปตามลำดับ

หากเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย โรงพยาบาลรัฐ ยังคงเป็นที่พึ่งได้เสมอ เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ตั้งต้นด้วย "ใจ" และมีประสบการณ์ที่มากมาย แม้ทรัพยากรไม่ได้เลิศหรูฟู่ฟ่า ไม่ได้มีความสะดวกสบาย ไม่ได้มีคำหวานๆ แต่เชื่อเถิดว่า เค้าเหล่านั้นไม่ได้คิดเป็นอื่น นอกจากช่วยเหลือผู้คน..

แน่นอนว่า หากเราเข้าใจบุคลากรภาครัฐ เอื้ออาทรกันและกัน เข้าอกเข้าใจกัน คนทำงานก็จะมีกำลังใจ แม้จะท้อใจกับงานหนักเงินน้อยเป็นช่วงๆ แต่จะกลับคืนสู่สภาพที่กายใจแข็งแรงมาดูแลประชาชนได้ในที่สุด

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2754001/