เปิดงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราจ่ายเงินชดเชยกรณีฉุกเฉิน 3 กองทุน โดย ‘นพ.ไพบูลย์’ ประเด็น ค่ารักษา รพ.เอกชนแพงแค่ไหน พบราคายาต่างจาก รพศ.ตั้งแต่ 60-400 เท่า ไวตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาทใน รพศ.กลายเป็น 600 บาทใน รพ.เอกชน ยาฉีดแก้ปวดข 6.50 บาทใน รพศ. เป็น 450 บาทใน รพ.เอกชน แถมให้บริการเกินจำเป็น มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจทำหน้าที่ต่อมไทรอยด์-องค์ประกอบดีเอ็นเอ แนะ 6 ข้อ เช่น ตกลงราคาล่วงหน้ากับคนไข้ก่อน เพดานราคาแบบเดียวกับประกันชีวิต หรือพิสัยขั้นต่ำราคาที่ รพ.เอกชนตกลงกับบริษัทประกันชีวิต

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

13 พ.ค.58 ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ได้โพสต์ Facebook/ Paibul Suriyawongpaisal เกี่ยวกับประเด็นค่ารักษา รพ.เอกชน ในชื่อว่า “ค่าบริการ รพ.เอกชนแพงแค่ไหน” สำนักข่าว Health Focus เห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

ค่าบริการ รพ.เอกชนแพงแค่ไหน

รายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงินชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” โดย ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล และคณะ ระหว่าง 1 เม.ย. 55- 30 ก.ย. 56 เป็นข้อมูลจาก รพ.เอกชน จำนวน 353 แห่ง รวมจำนวนคนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่า รพ.เอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงจริง ตัวอย่างเช่น

รายการยา 10 อันดับแรกที่แพงกว่า รพศ. สธ. (โรงพยาบาลศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ราคาต่างกันตั้งแต่ 60-400 เท่า ไวตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ1.50 บาทใน รพศ.กลายเป็น 600 บาทใน รพ.เอกชน ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก. ราคา 6.50 บาทใน รพศ. กลับแพงถึง 450 บาทใน รพ.เอกชน 

รายการเวชภัณฑ์ไม่ใช่ยา 10 อันดับแรก มีราคาต่างกันระหว่าง รพศ.และ รพ.เอกชน ตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาทใน รพศ. เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำชุดละ 28.5 บาทใน รพศ. เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน

นอกจากราคาต่อหน่วยบริการต่างกันดังกล่าว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น

เมื่อวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของการให้บริการเทียบกับภาวะเจ็บป่วยของคนไข้แต่ละรายโดยแพทย์เฉพาะทาง พบว่า ในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ และตรวจองค์ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งไม่ช่วยการดูแลในภาวะด่วน คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉิน กลับปรากฎรายการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ และชุดสวนล้างซึ่งไม่ชัดเจนว่าใช้ล้างอวัยวะลักษณะเป็นโพรงเช่น จมูก กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือแผล

แพงคงเส้นคงวา กับแพงต่างกันระหว่างพื้นที่

ข้อเสนอแนะ

1. ประกาศโครงสร้างราคาเป็นหนึ่งเดียวใช้กับคนไข้ทุกรายทุกประเภท โดยเปิดเผยแล้วเรียกค่าตอบแทนตามนั้น โครงสร้างราคาควรผนวกค่าบริการย่อยๆ ให้เป็นก้อนเดียว เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง สวนหัวใจ กรณีคนไข้นอกให้เรียกเก็บค่าบริการด้วยหลักคิดจัดกลุ่มโรคโดยอาจพิจารณาใช้วิธีของ Medicare หรือจะพัฒนาขึ้นเองในประเทศไทย การประกาศโครงสร้างราคาสอดคล้องกับ มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 (รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาลและสิทธิของผู้ป่วยซึ่งผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงตามมาตรา 32 (3) ผู้รับอนุญาตจะเรียกเก็บหรือยินยอมให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการอื่นเกินอัตราที่ได้ แสดงไว้มิได้ และจะต้องให้การบริการแก่ผู้ป่วยตามสิทธิที่ได้แสดงไว้)

2. ตกลงราคาล่วงหน้ากับคนไข้ก่อนเริ่มให้บริการ (professional ethics) ทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางนำมาใช้ซื้อบริการผ่าตัดแบบนัดหมายล่วงหน้าจาก รพ.เอกชน 

3. แบบอังกฤษ กรณีฉุกเฉิน ใช้หลักเกณฑ์ 3 ประการได้แก่

ก) จ่ายตามอัตราคงที่ (flat rate fee) ต่อรายสำหรับบริการรักษาพยาบาลแบบคนไข้นอก

ข) จ่ายด้วยอัตรารายวันที่รับคนไข้ไว้รักษาในรพ.

ค) ไม่ว่ากรณีใดดังกล่าว กำหนดเพดานสูงสุดต่อราย (cap in any one case) ทั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนทุกปีด้วยการเจรจาโดยอาศัยข้อเท็จจริง

4. เพดานราคาแบบเดียวกับประกันชีวิต (price regulation) นั่นคือ เป็นราคาสูงสุดที่สถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บได้โดยอิงราคาที่เรียกเก็บจากคนไข้ผู้ซื้อประกันชีวิต

5. พิสัยขั้นต่ำราคาที่ รพ.เอกชนตกลงกับบริษัทประกันชีวิต (implied-contracts approach) ในฐานะตัวแทนคนไข้และรู้เท่าทัน รพ.เอกชน 

6. ไม่ว่าจะเลือกหนทางใดเพื่อควบคุมราคา สิ่งที่ขาดเสียมิได้คือ ข้อมูลแสดงคุณภาพบริการเพื่อให้ตรวจสอบได้โดยโปร่งใส ทันการณ์ แล้วเชื่อมโยงไปถึงการต่อทะเบียนประกอบกิจการ