นับเป็นนโยบายที่ดี และสำคัญมากของรัฐบาล คสช. และกระทรวงสาธารณสุขเรื่องทีมหมอครอบครัว (Family Care Team : FCT) ได้มีการใช้ต้นทุน และโครงสร้างของระบบสุขภาพภาครัฐที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะในเขตชนบทที่นอกจากทีมหมอครอบครัวที่ประกอบด้วยทีมนักวิชาชีพแล้ว ยังร่วมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ที่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และทราบข้อมูลการติดต่อหมอประจำครอบครัวของตนเองที่เป็นการจัดตั้งของภาครัฐ ที่สามารถขยายต่อให้เชื่อมโยงกับภาคเอกชน เช่น ร้านยาคุณภาพ คลินิกเอกชนที่ขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ต่อไปในอนาคต เป็นต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดต่อยอดเพื่อความยั่งยืนในเชิงระบบ ไปสู่เป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนที่ทั่วถึง มีคุณภาพ และสามารถลดความเสี่ยงทางการเงินต่อระบบสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวคิดระบบสุขภาพ 6 system building blocks ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อธิบายความเชื่อมโยงของปัจจัยนำเข้า(input : system building blocks) สู่เป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวัง ตามภาพที่ 1
ระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Health Care: PHC) เป็นจุดเชื่อมต่อแนวราบ ระหว่างทรัพยากรที่เป็นปัจจัยนำเข้า สู่ เป้าหมาย และผลลัพธ์ของ 6 building blocks และ เป็นจุดเชื่อมต่อแนวดิ่ง ระหว่างระบบการดูแลสุขภาพชุมชนที่เป็นรากฐาน กับระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลที่เป็นระดับทุติยภูมิ และติตยภูมิตามภาพประกอบที่ 2
ซึ่งมีผู้ให้นิยามของการบริการปฐมภูมิไว้ว่า “ดูแลแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน บริการเข้าถึงสะดวก บวกระบบปรึกษาและส่งต่อ” การกำหนดนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ให้เกิดรูปธรรมมากขึ้นในการนำสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเปรียบได้กับการเป็น Gatekeeper หรือนายด่านระบบสุขภาพ ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังประเด็น ปัญหาสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการส่งต่อที่ไร้รอยต่อ (seamless) ลดช่องว่าง(gap) ลดการทับซ้อน (overlap) ลง เพื่อให้กับประชาชนที่สุขภาพดี กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เป็นองค์รวม ประสานงานรอบด้าน เช่น สวัสดิการสังคมต่างๆ บ้านพักอาศัย ปัญหาข้อกฏหมายต่างๆ และการเสริมพลังของครอบครัว และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม บริหารจัดการระบบสุขภาพตามหลัก 1 A 4 C ( Accessibility ,Continuity ,Comprehensive ,Co-ordination, Community empowerment) ที่เชื่อมโยง block แรกของ 6 building blocks คือการส่งมอบบริการ (service delivery) ซึ่งตรงกับแผนจัดบริการ (service plan) ของกระทรวงสาธารณสุข ตามตัวอย่าง 9 สาขา ดังนี้
ตารางแสดงสาขาการจัดบริการ (service plan) กับบทบาทของระบบบริการปฐมภูมิ และทีมหมอครอบครัว (PHC & FCT)
จะเห็นได้ว่า ระบบบริการปฐมภูมิ และ ทีมหมอครอบครัว จุดเชื่อมต่อของทุกสาขาของการจัดบริการสุขภาพเฉพาะทาง สู่ประชาชน ครอบครัว และชุมชน เปรียบได้กับนายด่านระบบสุขภาพที่คอยดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ที่ถึงพร้อมด้วยประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือจะกล่าวถึงในตอนต่อไปติดตาม FCT กับ ระบบการหลักประกันสุขภาพ
ผู้เขียน : นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน
แหล่งข้อมูล
https://www.gotoknow.org/posts/494191
http://www.hisro.or.th/main/?name=knowledge&file=readknowledge&id=32
- 1224 views