หมอไพบูลย์ เผยจากการวิจัยติดตามการทำงานเขตสุขภาพของสธ. ชี้สธ.เดินมาถูกทางแล้ว ในการใช้กลไกพื้นที่ทำงาน แทนที่การสั่งการจากส่วนกลาง แต่ต้องเพิ่มเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค แนะสธ.สรรหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มาทำงาน เน้นการประสานงานกับชุมชนและอปท. รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันในระดับเขต โดยต้องไม่จำกัดแค่รพ.สังกัดสธ. แต่ขยายถึงทุกสังกัด โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ จัดสรรทรัพยากรไม่ให้ทับซ้อนกัน หน่วยงานไหนมีเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแล้ว หน่วยงานใกล้เคียงไม่ควรมี แต่ให้พัฒนาด้านอื่นแทน แล้วมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีกลไกกลาง ซึ่งเขตสุขภาพสธ.อาจเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
27 ส.ค.57 ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล นักวิชาการศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยติดตามการทำงานเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการรูปแบบใหม่แบ่งเขตสุขภาพออกเป็นเครือข่ายละ 5-7 จังหวัด เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการและการแบ่งปันทรัพยากร เครื่องมือแพทย์ต่างๆ กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานรูปแบบเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี 2556 นั้น พบว่า สธ.เดินมาถูกทาง เนื่องจากการทำงานในรูปแบบพื้นที่เป็นเรื่องดี เพราะคนในพื้นที่จะเข้าใจระบบมากกว่าส่วนกลาง แต่ที่ต้องมีการเพิ่มเติมคือ ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ดังนั้น สธ.ควรหาบุคคลที่เก่งๆ ซึ่งเชื่อว่ากระจายอยู่ตามที่ต่างๆอยู่แล้ว เพราะเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคต้องอาศัยคนที่สามารถประสานหน่วยงานต่างๆได้ และทำงานร่วมกันเพื่อชุมชนสุขภาพดี ยกตัวอย่าง บางแห่งพยาบาลจะรู้จักคนมากกว่าแพทย์ และสามารถพูดคุยของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลในการก่อสร้างอาคารล้างไต เป็นต้น
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ ห้องผ่าตัด หรือแม้แต่แพทย์เองนั้น ถือเป็นหลักการที่ดีในการบริหารรูปแบบเขตสุขภาพ แต่ไม่ควรทำจำกัดแค่โรงพยาบาลสังกัด สธ.เท่านั้น หากเป็นไปได้ควรดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ อย่างโรงเรียนแพทย์ ซึ่งจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาก อาจมีการร่วมมือกันในเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญประเทศไทยยังขาดกลไกลกลางในเรื่องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ หมายถึงการดูแลการบริการของโรงพยาบาลทุกสังกัด ไม่ใช่แค่สังกัด สธ. แต่รวมทั้งมหาวิทยาลัย ตำรวจ กองทัพบก ดังนั้น จึงควรมีกลไกลกลางในการบริหารจัดการทั้งระบบด้วย เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณไม่ทับซ้อน กล่าวคือ หากรพ.ไหนมีเครื่องมือแพทย์ราคาแพงๆแล้ว รพ.ใกล้เคียงก็ไม่ควรมี แต่ควรมีการพัฒนาด้านอื่น แต่มาแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งตรงนี้อาจให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ หรือเดินหน้าเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากเขตสุขภาพแล้ว ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อออกแบบระบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สธ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมบัญชีกลาง โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา กรรมการ สช. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มองเรื่องนี้ว่าซ้ำซ้อนหรือไม่
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนไม่ได้อยู่ในคณะทำงาน ไม่รู้ในรายละเอียด แต่โดยหลักหากเรื่องนี้ทำงานในรูปแบบอิงภาคประชาชนก็ถือว่าดี เพราะไม่ว่าจะทำงานเรื่องใด แต่มีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการระดมความคิดเห็นเหมือนสมัชชาสุขภาพก็ถือเป็นเรื่องดี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา กล่าวว่า หลักการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ มีเป้าหมาย เพิ่มสุขภาวะประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ในระดับพื้นที่ โดยแบ่งการทำงานเป็นสองมิติ มิติแรกจะมีโครงสร้าง 5 ประการ คือ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน การระบาด 2.ระบบบริการปฐมภูมิในระดับอำเภอ 3.การพัฒนาการเงินการคลัง 4.การกระจายกำลังคนอย่างเท่าเทียม 5.การบริหารจัดการหรือการอภิบาลระบบ และมิติที่ 2 คือ การจัดการปัญหาเฉพาะพื้นที่ เช่น อีสาน มีปัญหามะเร็งตับ ภาคกลาง มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ท้องไม่พร้อม เป็นต้น ทั้งนี้ กลไกที่จะออกแบบทั้งสองมิติ จะเน้นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน ท้องถิ่น เอ็นจีโอ กลุ่มวิชาการ ภาคเอกชน โดยทั้งหมดจะนำเข้าที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติในช่วงเดือนธันวาคม 2557 นี้ เพื่อหามติและสร้างรูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ นายเจษฎา มิ่งสมร กรรมการสุขภาพแห่งชาติจากภาคประชาชน กล่าวในการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(คจ.สช.) ครั้งที่ 7 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ มติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ที่เห็นชอบหลักการจัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนของการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยจะพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2557 ระหว่างวันที่ 24-26 ธันวาคม 2557 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ที่เป็นตัวแทนจากทั่วประเทศ ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ/วิชาชีพ มีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและรัดกุมในทุกมิติ เพื่อหาฉันทมติและขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะ นำไปสู่เขตสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ถือเป็นกลไกใหม่ที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ประชาชนในทุกระดับ สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงการทำงานแบบกลุ่มจังหวัด และมีกลไกอภิบาลแบบมีส่วนร่วมอำนวยการให้เกิดทิศทางและบูรณาการความร่วมมือในงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ระดับภูมิภาค ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน ชุมชนและตัวแทนวิชาชีพ ถือเป็นโครงสร้างการทำงานแบบแนวราบ ที่ทุกฝ่ายรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองและไม่เน้นการใช้อำนาจสั่งการในรูปแบบเดิม ในขั้นตอนต่อไปหลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนแล้ว สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานฯอย่างเต็มที่ โดยจะสนับสนุนให้เกิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยใช้ฐานวิชาการและความเห็นที่ได้รับมาพัฒนารูปแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อไป
- 20 views