เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวสะเทือนวงการสาธารณสุขประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการเข้ามาเกี่ยวพันของบริษัทยาข้ามชาติที่เข้ามามีส่วนกับการทำงานของ National Health Service หรือ NHS ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูและเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐของประเทศอังกฤษ มีลักษณะคล้ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ของไทยนั่นเอง โดยในกรณีนี้สื่อประเทศอังกฤษได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และระบุว่า นี่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรภาครัฐที่ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ถูกมองว่า การออกนโยบายด้านสุขภาพต่างๆ จะเอื้อต่อบริษัทยาหรือไม่
เนื่องจากตามข่าวระบุชัดเจนว่าทาง NHS ได้มีการให้บริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทยา มาเขียนรายงานด้านสุขภาพของทั้งประเทศ จนเกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่หลายคนสงสัยว่า ระบบการทำงานขององค์กรระดับชาติ ไม่มีการสกรีนบุคคลเลยหรืออย่างไร เรื่องนี้จึงถูกนำมาเป็นตัวอย่างในการตั้งคำถามของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
"ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี" ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เห็นว่า ข่าวดังกล่าวหากเป็นข้อเท็จจริงถือว่าไม่เหมาะสม และไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยหลักน่าจะทราบกันอยู่แล้วว่า หน่วยงานรัฐ ไม่ควรเกี่ยวพันกับบริษัท หรือภาคเอกชนใดๆไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ยิ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพของประชาชน มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ยิ่งไม่ควรเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ เพราะต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ติดตรงที่ว่า ไม่ทราบว่ากลไกการทำงานของ NHS มีขั้นตอนอย่างไร และสัดส่วนคณะกรรมการของ NHS เป็นอย่างไร จึงวิเคราะห์ยาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ควรนำมาเป็นตัวอย่างให้กับประเทศไทยด้วย เพราะไทยมีกองทุนสุขภาพภาครัฐถึงสามกองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งแต่ละกองทุนมีคณะกรรมการในการดูแลกองทุนอยู่แล้ว ประเด็นคือ มีระบบในการตรวจคัดกรองไม่ให้บริษัทยา หรือภาคเอกชนเข้ามาล็อบบี้ได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันบริษัทยา รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ไม่ใช่ทางตรง แต่ทางอ้อมมีอยู่แล้ว
อย่างกรณีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีกฎหมายตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อยู่แล้วว่า สัดส่วนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) จะต้องมีสัดส่วนจากภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งทราบว่าในส่วนของภาคประชาชนก็จะมีการเฝ้าระวังในการพิจารณาวาระต่างๆของที่ประชุมอยู่แล้ว ปัญหาคือ ในการเฝ้าระวังควรมีระบบที่ชัดเจนว่า กรรมการแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนอย่างไร แม้จะไม่โดยตรง แต่เป็นทางอ้อม อย่าง การดำรงตำแหน่งกรรมการ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังมีบอร์ดอื่นๆด้วย ตรงนี้ต้องมีการสกีนว่าแต่ละบอร์ด เกี่ยวพันกันหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใส
"คนที่เข้ามาอาจมีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออาจมีหุ้น มีธุรกิจ หรือมีญาติ คนรู้จักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยา หรือภาคเอกชน ตรงนี้ไม่มีใครทราบ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้ดี ซึ่งรวมไปถึงอีกสองกองทุนอย่าง กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมด้วย โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคม เพราะที่ผ่านมาแทบไม่มีใครรู้เลยว่า ทำงานกันอย่างไร บริหารกองทุนอย่างไร แม้จะมีการเปิดเผยหรือออกข่าวบ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจน ซึ่งบอร์ดประกันสังคมควรปฏิรูปมากที่สุด เพื่อความชัดเจนในสังคม อย่าลืมว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการจ่ายด้วยไม่เหมือนสองกองทุนที่เหลือ" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ส่วนบอร์ดของกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แม้จะไม่ค่อยเห็นข่าวว่าบริษัทยาเข้ามามีส่วนเกี่ยวพันในการกำหนดนโยบาย แต่จะเห็นว่าเมื่อออกนโยบายควบคุมยาต่างๆ หลายอย่างทำไม่ได้ มักมีแรงต้านเสมอ หลายคนก็สงสัยว่า มีส่วนกับภาคเอกชนเข้ามาต่อต้านหรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีหลักฐาน จึงไม่สามารถพูดได้ แต่ที่แน่ๆ ยกตัวอย่าง กรณียากลูโคซามีน หรือยาข้อเสื่อม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังออกนโยบายควบคุมการใช้ เพราะเป็นยาราคาแพง และใช้กันมหาศาล ก็ถูกแรงต้านกันมาก แต่แรงต้านมาจากแพทย์ และคนไข้ โดยคนไข้มองว่าเป็นการริดรอนสิทธิ ส่วนหมอก็มองว่า ยามีคุณภาพ ปัญหาคือ หากเรามีผลงานวิจัยชี้ชัด ชัดเจนในส่วนของประเทศไทยก็คงไม่มีใครออกมาต่อต้านเช่นนี้ เรื่องนี้ก็ควรเป็นบทเรียนในการนำไปศึกษาด้วย
ผศ.ภญ.นิยดา ยกตัวอย่างอีกกรณี คือ คณะกรรมการยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่มีประกาศเพิ่มเติมในเรื่องข้อกำหนดของกรรมการที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นคือ กรรมการในสัดส่วนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับมีอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ และอุตสาหกรรมยาในประเทศ ประเด็นนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่า จำเป็นด้วยหรือ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีใครทำกัน ตรงนี้ควรมีการปรับปรุงด้วยหรือไม่ แม้ขณะนี้จะไม่เกิดปัญหาโดยตรง แต่ควรจะต้องรอให้เกิดปัญหาก่อนหรืออย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้บริหารกองทุนภาครัฐ อย่าง "นพ.วินัย สวัสดิวร" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บอกว่า สำหรับบอร์ด สปสช. มีข้อกำหนดตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถึงคุณสมบัติของกรรมการแต่ละท่านอยู่แล้ว และระบุว่าต้องมีกรรมการจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งภาคประชาชน และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แต่ในส่วนของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อบอร์ด สปสช. มีการประชุมวาระใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือองค์กร สมาคมใด ก็จะไม่ได้อยู่ในการประชุมนั้นๆ อย่างกรณีมีการร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน ในส่วนของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ใช่ผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนที่ถูกร้องเรียน ก็จะไม่เข้าร่วมประชุมอยู่แล้ว เพราะแต่ละท่านก็จะทราบและขอออกจากที่ประชุม ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการลักษณะนี้มาตลอด และก็ไม่มีปัญหาอะไร
ในเรื่องที่กังวลว่า บริษัทยาจะเข้ามาล็อบบี้ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพได้หรือไม่ จริงๆ มีทุกกลวิธี แต่ในระบบค่อนข้างยาก เพราะเรามีกลไกการทำงานหลายขั้นตอน อย่างการพิจารณายาบางรายการเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ก็ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งตรงนี้จะมีการพิจารณารายงานวิจัย รายงานวิชาการรับรองความปลอดภัย ประสิทธิภาพของยาดังกล่าว หากพิจารณาแล้วเสร็จก็จะเข้าสู่บอร์ด สปสช.ในการกำหนดสิทธิ ซึ่งแต่ละขั้นตอนในส่วนกรรมการ ก็จะมีการสกรีนคุณสมบัติอยู่แล้ว
"ปัญหาของบริษัทยา ส่วนใหญ่จะไปทางแพทย์ในเรื่องการสั่งจ่ายยามากกว่า ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็มีแนวทางควบคุมมาตลอด จึงต้องยอมรับว่า บริษัทยา ก็ต้องขายยา ทำให้มีกลยุทธ์ต่างๆ แต่ในส่วนภาครัฐหากเห็นว่ายาบางรายการไม่คุ้มทุน มียาตัวอื่นที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน ก็ต้องหาทางในการป้องกันปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็นเช่นกัน เรียกว่าต่างฝ่ายต่างต้องทำงาน ซึ่งในส่วนภาครัฐก็ต้องปกป้องสิทธิ และคำนึงถึงคุณภาพของยา ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความคุ้มค่าในการใช้ยานั้นๆ ทุกอย่างต้องไปในทางเดียวกัน แต่คำนึงประโยชน์ของผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว" นพ.วินัย กล่าว
ปัญหาความต้องการการขายยาของบริษัทยาที่เพิ่มทวีคูณอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องยากที่จะห้าม แต่ภาครัฐ โดยเฉพาะกองทุนต่างๆ หากมีระบบในการป้องกันการเข้ามาล็อบบี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และคำนึงถึงประโยชน์การเข้าถึงยา ประสิทธิภาพการใช้ยาของประชาชนอย่างแท้จริง เชื่อว่าก็จะเป็นเกราะป้องกันการล็อบบี้ของบริษัทยา หรือภาคเอกชนต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย
- 75 views