กรุงเทพธุรกิจ - รายงานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อายุเฉลี่ยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ครั้งแรกของวัยรุ่นลดลงจาก 18-19 ปี ในปีพ.ศ. 2539 เป็น 15-16 ปี ในปี 2552 ส่วนข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาในปี 2554 พบว่า อัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในภาพรวมนั้นมีเพียงร้อยละ 50 ด้านข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547- 2554 พบว่าการคลอดบุตรจากแม่ที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2554 แม่คลอดบุตร ที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 16.5
ตัวเลขเกี่ยวกับ "เรื่องเพศ" ที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (path2 health) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ทำโครงการ "คุยกับลูกหลานเรื่องเพศ" ขึ้น ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวในเรื่องเพศ สร้างทัศนคติที่ดี ทั้งในตัวผู้ปกครองและลูกหลานวัยรุ่นเรื่องเพศแบบเปิดใจ และเสริมทักษะการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองคือช่องทาง สำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนการ แก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับเยาวชน
ผลสำรวจพบว่า คนที่เด็กและวัยรุ่นปรึกษาเวลามีคำถามเรื่องเพศ อันดับ 1 คือ เพื่อนสนิท สูงสุดถึงร้อยละ 51 ตามมาด้วยพ่อแม่ ร้อยละ 14 และแฟน/คู่รัก ร้อยละ 10 โดยพ่อแม่เป็นบุคคลที่เยาวชนคาดหวังว่า ควรมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องเพศมากที่สุดถึงร้อยละ 60 และ ยังเป็นบุคคลที่เยาวชนต้องการจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุด
ในเทศกาลวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่พ่อแม่จะถือ โอกาสในการเปิดใจพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับ บุตรหลาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้กับเยาวชน เพราะปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่นสามารถจัดการได้ หากพ่อแม่คุยกับลูก รับฟังปัญหา ช่วยแก้ข้อสงสัย และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา ผู้ประสานงาน โครงการฯ ชี้ว่า ตอนนี้ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว เด็กส่วนใหญ่ก็อยากรู้อยากเห็นตามประสาวัยรุ่น ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดอกรับฟัง พูดคุย และแนะนำในการแสดงออกเรื่องความรักอย่างเหมาะสมให้แก่บุตรหลาน
"ขณะเดียวกัน วิธีการสื่อสารเรื่องเพศ ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น ส่งผลต่อพฤติกรรม เสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น เพราะการวิจัยพบว่า แม้จะมีการพูดคุยกันบ่อยในครอบครัว แต่รูปแบบการพูดคุยของครอบครัวที่ลูกวัยรุ่นต้องจำยอมเห็นด้วยกับพ่อแม่ทุกเรื่องในระหว่างการพูดคุย วัยรุ่นกลุ่มนี้มีแนวโน้ม ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศสูงกว่า ครอบครัวที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง"
ด้าน หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่าย นโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ เชฟรอนประเทศไทย บอกว่า
"การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และสร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนในเรื่องเพศ เป็นการป้องกันปัญหาการท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และปัญหาในวัยรุ่นอื่นๆ เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเยาวชนที่ดีที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป"
โดยในโครงการนี้จึงได้จัดทำคู่มือการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง กับบุตรหลาน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางเพศในเยาวชน สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.teenpath.net หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 2611 3001-5
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557
- 105 views