Hfocus-เมื่อสิทธิด้านสวัสดิการรัฐไม่เอื้อ นางกัลยา อายุ 42 ปี พนักงานโรงงานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการจึงต้องพึ่งตัวเอง

นางกัลยาเข้าร่วมโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยสปสช.เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ผลการตรวจออกมาในเดือนถัดไป พบว่าเธอมีเซลล์ผิดปรกติในมดลูก ด้วยความกังวล เธอจึงเอาผลตรวจนี้ไปยื่นขอเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลต้นสังกัดภายใต้สิทธิประกันสังคม แต่กลับพบว่าเธอต้องรอคิวทั้งวัน เมื่อขอพบหมอสูตินารี คิวก็เต็มแน่นเกินกว่าเธอจะรอไหว

“วันนั้นทั้งวันไม่ได้อะไรเลย” เธอเล่า “สุดท้ายก็ต้องไปเสียเงินหาหมอเอง”

เมื่อรู้ว่าตนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ความกังวลก่อเกิดขึ้น เธอจึงจำต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจซ้ำที่ร.พ.มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพื่อความสบายใจ การส่องกล้องไม่พบสิ่งผิดปรกติ แต่ยังไม่สรุปผล แพทย์นัดเธออีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า

กรณีของนางกัลยาคล้ายคลึงกับพนักงานโรงงานผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า นางสุชาดา อายุ 32 ปี ซึ่งตรวจสุขภาพประจำปีตามสวัสดิการของบริษัทภายใต้สิทธิประกันสังคม ผลการตรวจพบว่ามีเซลล์ผิดปรกติภายในมดลูก แต่แพทย์กลับบอกให้ไปตรวจซ้ำอีกครั้ง ไม่มีการต่อยอดการรักษาให้เสร็จสิ้น

การถูกปฏิเสธการรักษาทางอ้อมภายใต้สิทธิประกันสังคมแบบนี้ มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับกลุ่มพนักงานสตรีในโรงงาน หากแต่มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2554 สปสช.ได้ทำการผลักดันโครงการการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับกลุ่มพนักงานสตรีในโรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้งบประมาณส่งเสริมและป้องกันโรค พบว่ามากกว่า 40 คนพบเซลล์ผิดปรกติภายในมดลูก แต่เมื่อผู้ป่วยบางรายนำผลการตรวจไปยื่นแก่โรงพยาบาลต้นสังกัดภายใต้สิทธิประกันสังคม แพทย์กลับไม่รีบทำการรักษาทั้งที่เป็นสิทธิประโยชน์หนึ่งที่พวกเธอควรได้รับ

“เมื่อเราปล่อยให้ผู้ที่ตรวจเจอเซลล์ผิดปรกติไปเข้ารักษาตามระบบ เกิดการยื้อในการรักษา ทำให้ต้องตรวจซ้ำ จ่ายเงินอีก” น.พ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์ประจำวิสาหกิจเพื่อชุมชน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ผู้ป่วยบางคนถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลย่านอื่นในรังสิตหรือปทุมธานี ทำให้ยิ่งต้องรอคิวนาน บางคนก็ท้อจนเลิกคิดจะรักษา หรือบางรายก็ถูกยื้อภายใต้โรงพยาบาลต้นสังกัดของตน กว่าจะได้รับการรักษาก็ผ่านเวลาไประยะหนึ่งแล้ว

“คนที่เราตรวจเจอส่วนมากอยู่ในขั้นที่ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว” น.พ. พูลชัยกล่าว เขาเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดโครงการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มพนักงานสตรีในโรงงาน จากการทำโครงการใน จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ที่มีความผิดปรกติของเซลล์ส่วนมากที่ระดับ 4-5 ประมาณ 1.2-1.3% ของผู้ได้รับการตรวจคัดกรองทั้งหมด ซึ่งเป็นผลการตรวจที่ต้องนำไปสู่การรักษาให้ทันท่วงที

แหล่งข่าวในวงการสาธารณสุขเล่าว่า อาการยื้อยึดของบางโรงพยาบาลเกิดจากความต้องการรักษาผลประโยชน์ของโรงพยาบาล เนื่องจากการรักษาไม่คุ้มทุน พบว่ามีการยื้อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกบางราย จนมีความรุนแรงขึ้นในระยะที่การรักษาจะคุ้มทุน  

ในข้อเท็จจริง หากทำการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในช่วงเริ่มต้น จะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ แต่กลับพบว่า 94%ของแรงงานสตรีไม่เคยตรวจคัดกรอง และมีทัศนคติเชิงลบต่อการตรวจ อาย เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ส่วนผู้ที่ผ่านการคัดกรองหลายคนกลับถูกยื้อยึดโดยโรงพยาบาลจนเซลล์ร้ายกลายสภาพเป็นเนื้อร้าย

ทางด้านน.พ. สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้ให้คำตอบในกรณีการยื้อยึดของโรงพยาบาลร่วมโครงการประกันสังคมใน จ.พระนครศรีอยุธยาว่า “ตอนนั้น สถานพยาบาลไม่พร้อมที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ และไม่มีระบบต่อเนื่องที่ดูแลผู้ป่วยหลังการคัดกรอง โรงพยาบาลอาจจะไม่เชื่อถือผลการตรวจเดิม จึงให้ผู้ป่วยตรวจใหม่และต้องแบกค่าใช้จ่ายเอง”

ปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาดังกล่าวจึงนำมาสู่การนำร่องการรักษามะเร็งแบบเป็นกลุ่มก้อนที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล จ.สมุทรปราการ โดยสปสช.ทำหน้าที่ผลักดัน สปส.ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานให้แต่ละโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมในพื้นที่ร่วมมือกันส่งต่อผู้ป่วยที่พบเซลล์ผิดปรกติจากการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสู่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล แล้วโรงพยาบาลจะทำเรื่องเบิกเงินระหว่างกันในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ตกลงกันไว้ที่ 2,700 บาท/คน โรงพยาบาลในจังหวัดจะมีการผลัดเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางในการรักษาในเดือนต่อๆไป มีการตรวจคัดกรองไปแล้ว 4,545 ราย พบ 46 รายมีเซลล์ผิดปรกติในระยะเริ่มต้น ซึ่งทั้งหมดให้ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลภายใต้โครงการนำร่องการรักษามะเร็งแบบเป็นกลุ่มก้อน โครงการนี้จะมีการขยายสู่จังหวัดอื่นๆในอนาคต เช่น เขตปริมณฑลและชลบุรี แต่ความสำเร็จนั่นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของโรงพยาบาลในโครงการสิทธิประกันสังคม

ใน จ.สมุทรปราการนั้นได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลเนื่องจากการพูดคุยและการประสานงานทำได้ง่าย แต่หากเจอโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาผลประโยชน์ตน คาดว่านั่นจะเป็นปัญหาในการประสานงานกันเพื่อให้เกิดโครงการรักษามะเร็งปากมดลูกรวมศูนย์

แม้โมเดลรวมศูนย์เกิดขึ้นแล้ววันนี้ที่ จ.สมุทรปราการ แต่ยังมีคำถามว่าจะตอบโจทย์ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษามะเร็งปากมดลูกในกลุ่มพนักงานโรงงานสตรีได้หรือไม่ เมื่อในข้อเท็จจริง หากเพียงโรงพยาบาลต้นสังกัดให้การรักษาผู้มีความผิดปรกติของเซลล์โดยเร่งด่วน ไม่คำนึงถึงประโยชน์ตน คงไม่ต้องมีโมเดลรวมศูนย์มาอุดช่องว่างที่เกิดขึ้น  

ตรงนี้ ประกันสังคมต้องมีคำตอบ ต้องเร่งสร้างระบบการเบิกจ่ายที่เป็นธรรม พัฒนามาตรฐานการเข้าถึงการคัดกรองและรักษามะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีโรงงาน รวมทั้งทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้

อย่าอ้างเพียงปัญหาเกิดจากปัจจัยนอกสปส.

เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหาอยู่ในการออกแบบระบบและกฎเกณฑ์ทั้งสิ้น