“หมอพูลชัย” หนุน สสอ./สสจ. เป็น “หน่วยบริการร่วมป้องกันโรค” ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แนะแยก “งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ออกจากงบเหมาจ่ายลงโรงพยาบาล เหตุถูกรวมเป็นงบรักษา กระทบต่องานส่งเสริมสุขภาพฯ ระบุการส่งตรง สสอ./สสจ. จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทำงานร่วมท้องถิ่นมากขึ้น
นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน กล่าวถึงกรณีข้อเสนอจากประชาคมสาธารณสุขที่เสนอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เข้าเป็นหน่วยบริการเพื่อร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ว่า เรื่องนี้มองว่าควรแก้เป็น “หน่วยบริการร่วม” แต่ไม่เห็นด้วยที่จะยกให้เป็น “สถานบริการ” เช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยเฉพาะ สสอ. เพราะนอกจากมีคนทำงานไม่กี่คนแล้ว ยังไม่มีเครื่องมือบริการได้ แต่เป็นหน่วยงานที่มีเครือข่าย คือ รพ.สต. ในการทำงานบริการแทน และประเด็นสำคัญคือยังเป็นหน่วยงานถือกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขเพื่อร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตลาดสด อาหารปลอดภัย สารตกค้าง และขยะมูลฝอย เป็นต้น ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญทำให้งานเหล่านี้เดินไปได้
“การกำหนดให้เป็นหน่วยบริการร่วมจะทำให้ สสจ.และ สสอ.สามารถรับงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ ซึ่งปี 2559 อยู่ที่ 398.60 บาท จะช่วยให้ สสจ.และ สสอ.ทำงานกับ อปท.ได้ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานและเป้าหมายร่วมกัน อย่างเช่น การป้องกันโรคตามฤดูกาล โดยให้ท้องถิ่นลงทุนร่วม ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ทั้ง สสจ.และ สสอ.ไปคุยกับ อปท.ในแบบที่ไม่มีงบประมาณ เป็นการขอให้มาช่วยทำ ซึ่งเป็นแบบนี้ใครจะมาช่วยทำ เพราะแม้จะเป็นผู้ถือกฎหมาย แต่กลับไม่มีอำนาจในการชักจูงใจหรือเริ่มต้นทำให้เห็นจริง”
นพ.พูลชัย กล่าวว่า งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขณะนี้ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่รวมอยู่ในงบเหมาจ่ายก้อนเดียว ไม่ได้แยกเป็นงบส่งเสริมสุขภาพฯ และงบรักษาพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่เน้นไปที่การรักษาพยาบาล เนื่องจากเป็นบทบาทสำคัญของโรงพยาบาล ขณะที่งานส่งเสริมสุขภาพฯ ถูกมองว่าเป็นเรื่องงานชุมชน จึงปล่อยให้ชุมชนแก้ปัญหากันเองซึ่งส่งผลกระทบต่องบส่งเสริมสุขภาพฯ และเป็นแบบนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นมองว่าควรมีการแยกระหว่างงบส่งเสริมสุขภาพฯ และรักษาพยาบาลเพื่อให้มีงบชัดเจนสำหรับ สสอ.และ สสจ.ในฐานผู้ถือกฎหมายเพื่อดำเนินงานนี้
ต่อข้อซักถามว่า ข้อเสนอที่ให้ สสจ.และ สสอ. เป็นหน่วยบริการร่วม ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือไม่ นพ.พูลชัย กล่าวว่า การกำหนดหน่วยบริการร่วมเป็นมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดบทบาทว่าหน่วยบริการร่วมต้องทำอะไรบ้าง และธุรกิจเพื่อสังคมช่วงที่ตนดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ได้ร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยบริการร่วมนี้ด้วย ดังนั้นจึงสนับสนุนให้ สสจ.และ สสอ.เป็นหน่วยบริการร่วม แต่ต้องมีการแยกงบส่งเสริมสุขภาพฯ ออกจากงบรักษาพยาบาลที่ส่งตรงไปยังโรงพยาบาล
“โรงพยาบาลไม่ได้เป็นหน่วยงานถือกฎหมาย ต่างจาก สสจ.และ สสอ. โดยในการทำงานทำเกิดผลได้กว้างกว่า และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการจัดทำระบบสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อดึงท้องถิ่นเข้าร่วมงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค หากเพิ่มเติมในส่วนนี้จะทำให้งานส่งเสริมสุขภาพฯและป้องกันโรคมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” อดีตที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าว
- 457 views