“หมอพูลชัย” แนะ สปสช.ต่อยอดโครงการระบบเติมยาให้ผู้ป่วยโรครื้อรังรับยาที่ร้านขายยาได้ หลังประสบความสำเร็จกับโครงการนำร่องที่ จ.ขอนแก่น เสนอขยายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับยาต้านไวรัสที่ร้านยาได้ ระบุใน กทม.มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกสิทธิ 6 หมื่นคน ทุกคนต้องรับยาต้านทุก 2 เดือน แต่ทุก 4 เดือนได้พบแพทย์ หากเปลี่ยนรับยาที่ รพ.จะสะดวกทั้งกับ รพ.และผู้ติดเชื้อ แล้วทุก 4 เดือนก็ไปพบแพทย์ที่ รพ.แทน
นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน กล่าวถึงโครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย โดยร้านยาคุณภาพและร้านยาที่มีเภสัชกรประจำว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร้านยาคุณภาพ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อร่วมกันจัดทำระบบเติมยาระหว่า รพ.ศูนย์ขอนแก่น ศูนย์การแพทย์ และร้านยาคุณภาพ/ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน 20 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาระบบบริการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น สปสช.ควรจะนำมาต่อยอดให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
นพ.พูลชัย กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกสิทธิการรักษาพยาบาลสะสมอยู่ประมาณ 6 หมื่นคน ทุกคนต้องไปรับยาต้านไวรัสทุก 2 เดือน แต่ทุก 4 เดือนถึงได้พบแพทย์ จึงเป็นภาระแก่ผู้ป่วย และโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก เพราะต้องไปต่อเนื่องตลอดชีวิตและต้องมารับยาในเวลาราชการ ผู้ป่วยก็ไม่อยากไปรับยาในที่ๆ มีคนมากๆ และทางโรงพยาบาลเองก็มองว่าเป็นภาระเพราะยาต้านไวรัสนั้นเบิกมาจากองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) มาฟรี โรงพยาบาลไม่มีส่วนต่างเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ แต่ต้องให้บริการ
“ผมเคยเสนอกับผู้บริหาร สปสช.ว่าเพื่อให้สะดวกกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่จะต้องมารับยาทุก 2 เดือน และจะได้ไม่ไปปะปนกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในโรงพยาบาล เพราะผู้ติดเชื้อภูมิต้านทานจะต่ำกว่าคนปกติ ติดเชื้อง่ายโดยเฉพาะวัณโรค หากมีการจัดระบบด้วยการให้มาเบิกยาต้านไวรัสที่ร้านยาได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วมียาต้านไวรัสไม่กี่ตัว ไม่กี่สูตร และยาที่ให้ก็เหมือนกันทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ผมได้เสนอไปนานพอสมควรแล้ว สปสช. ยังไม่ตัดสินใจ ทั้งที่หากจะทำก็ทำได้ไม่ยากเพราะมีระบบเติมยาขององค์การเภสัชกรรม (VMI) อยู่แล้ว” นพ.พูลชัยกล่าว
นพ.พูลชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จได้ คือ โรงพยาบาลจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่มองว่า คนไข้ คือคนของโรงพยาบาล มาเป็นคนไข้ของประเทศ เพราะระบบแค่เปลี่ยนวิธีคิด โรงพยาบาลก็ไม่เหนื่อย เภสัชกรก็ไม่ล้า ส่วนผู้ติดเชื้อก็ไม่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลแต่เช้า ต้องลางานบ่อยๆ เพราะสามารถมารับที่ร้านข้างนอก 6 โมงเย็นถึงสี่ทุ่มได้ หากสามารถมาลงทะเบียนล่วงหน้ามาก่อนได้ก็ยิ่งสะดวก อาจจะเสียค่าบริการพิ่มเล็กน้อย แต่จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้ยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น ลดปัญหาเชื้อดื้อยา เพราะกินยาไม่สม่ำเสมอ
“ระบบร้านยาคุณภาพที่ควรจะเป็นนั้น ต้องเปิดในสถานที่ที่เข้าถึงได้ง่าย มีที่จอดรถ และเปิดในช่วงเวลาที่คนไข้สะดวก เช่น จ่ายยาศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เย็นถึงดึก ไม่ต้องลางานมาเพื่อรับยา ในเมืองใหญ่ที่มีปัญหาด้านการเดินทาง มีผู้ติดเชื้อที่ต้องลางานมารับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต ควรจะมีระบบนี้ เพราะจะทำให้เยาวชน และคนเกษียณแล้วที่เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่อยากไปคลินิกเอชไอวีในโรงพยาบาล แต่ก็กลัวตายได้รับยาต้าน” นพ.พูลชัย กล่าว.
- 1670 views