“หมอพูลชัย” หนุนแยก “แอมเฟตามีน” เป็นยาเสพติดประเภท 2 เพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติด ใช้แนวทางเดียวกับเมทาโดนบำบัดผู้เสพเฮโรอีน มองผู้เสพเป็นเพียงผู้ป่วย เพิ่มโอกาสในการเลิกยา ซ้ำช่วยตัดวงจรขายยาเสพติด หลังมาตรการปราบปรามไม่ได้ผล แถมส่งผลผู้ต้องขังล้นเรือนจำ คดีล้นศาล
นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชนกล่าวสนับสนุนแนวคิดการแยก “แอมเฟตามีน” ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 เป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อใช้ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดว่า จากที่ได้ทำงานวิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE และได้มีโอกาสคลุกคลีกับน้องๆ ที่ทำงานด้วยซึ่งมาจากเรือนจำและบางคนติดยาเสพติด ทำให้ทราบปัญหาของคนกลุ่มนี้ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ร้าย หากมีทางเลือกในการบำบัดรักษา ต่างอยากที่จะกลับเข้าสู่สังคมและมีชีวิตที่เป็นปกติ
ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ารับการบำบัดเลิกยาเสพติดแล้ว แต่เมื่อเกิดความอยากยาและไม่มีทางออก ทำให้คนเหล่านี้ต้องกลับไปเสพยาใหม่ และกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดเช่นเดิม ดังนั้นการแยกแอมเฟตามีนออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 1 และให้เป็นยาควบคุมเพื่อบำบัด จะเป็นทางออกให้กับคนกลุ่มนี้ได้
นพ.พูลชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แอมเฟตามีนหรือที่มักถูกเรียกว่ายาบ้า เป็นยาที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งยังไม่มีความรุนแรงและเสพติด หากหยุดใช้ก็หายได้ นอกจากถูกจัดเป็นกลุ่มยาขยันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยังเป็นยารักษาโรคสมาธิสั้น แต่ภายหลังมีผู้นำไปสังเคราะห์ต่อจนกลายเป็น “เมทแอมเฟตามีน” ที่มีฤทธิ์ต่อการเสพติดที่รุนแรงและมีราคาแพง ผู้ที่เสพแล้วโอกาสในการเลิกนั้นยาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายในการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจับกุมผู้เสพมาไว้ในเรือนจำและการบำบัดให้เลิกยา
แต่จากการดำเนินการกว่า 10 ปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่าไม่ได้ผล เพราะสงครามยาเสพติด ซึ่งคาดว่ามีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 2 ล้านคน ทั้งที่อยู่ในเรือนจำและซ่อนอยู่ตามชุมชน นอกจากสร้างปัญหาให้กับสังคมแล้ว ยังสร้างปัญหาให้กับระบบยุติธรรมของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ต้องขัง โดยร้อยละ 70 เป็นผู้เสพยา ขณะเดียวกันยังเป็นภาระของตำรวจและศาล เนื่องจากต้องมาคอยปราบปรามยาเสพติดและตัดสินคดียาเสพติดที่ล้นศาล แทนที่จะมีเวลาเพื่อไปจัดการปัญหาอื่นเพื่อรักษาความสงบหรือทำงานที่สร้างสรรค์
ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่โดยมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และใช้แนวทางเดียวกับผู้เสพเฮโรอีนที่ใช้สารเมทาโดนบำบัดระยะยาว ลดปริมาณการใช้ยาแบบค่อยเป็นค่อยไปจนหยุดยาในที่สุด โดยใช้แอมเฟตามีนเป็นยาในการบำบัด นอกจากนี้ยังเป็นการตัดวงจรการขายยาเสพติดประเภทนี้ เพราะผู้เสพสามารถมาขอรับยาโดยการบำบัดในโรงพยาบาลได้
สำหรับแนวทางนี้มองว่าทำได้ เพราะระบบสาธารณสุขบ้านเรามีระบบที่ดูแลการใช้ยาที่เข้มข้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้มอร์ฟีนกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดอาการเจ็บป่วย หรือการใช้ยาเมทาโดนเพื่อบำบัดผู้เสพเฮโรอีนในปัจจุบัน โดยมีระบบที่ป้องกันการรั่วไหล โดยเราใช้สามารถใช้วิธีการจัดการเดียวกันนี้เพื่อบำบัดผู้ติดยาแอมเฟตามีนได้ อีกทั้ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันว่าระบบของกระทรวงสาธารณสุขรองรับได้ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลมีระบบที่ต้องรองรับการดูแลประชากร 60 ล้านคนอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระแต่อย่างใด
“การให้แอมเฟตามีนเป็นยาบำบัด เป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 จะช่วยลดปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำได้ ซึ่งบางคนไม่ได้เป็นผู้ร้ายแต่เสพเพราะความอยากลอง โดยเปลี่ยนจากผู้เสพเหล่านี้จากที่อยู่ในเรือนจำให้ออกมาอยู่ภายนอก และแทนที่จะวิ่งไปหาซื้อยาเพื่อเสพซึ่งจะนำเข้าสู่วงจรยาเสพติดเดิมๆ ก็ให้มารับแอมเฟตามีนเพื่อบำบัดที่โรงพยาบาลแทนหรือบางคลินิกที่เป็นเฉพาะทาง โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้การรักษาเป็นจริงได้”
นพ.พูลชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผลที่ได้จากการแยกแอมเฟตามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 คือแพทย์สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคเทคโนโลยี คนติดสมาร์ทโฟน ไม่แต่เฉพาะเด็กแต่ยังพบในกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งยาที่ใช้รักษามีราคาเม็ดละ 170 บาท ต้องกินวันละ 3 ครั้ง ขณะที่แอมเฟตามีนราคาเม็ดละไม่ถึง 1 บาท ซ้ำยังกินแค่เสี้ยวหนึ่งของเม็ดยาเท่านั้น
ต่อข้อซักถามว่า มองความเป็นไปได้ของการผลักดันเรื่องนี้อย่างไร นพ.พูลชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในต่างประเทศหรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติเอง และมีบางประเทศเริ่มใช้มาตรการนี้แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการต่อสู้เพื่อปราบปรามอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพียงแต่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคมก่อนว่า การแยกแอมเฟตามีนออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไม่ได้เป็นการลดขั้นยาบ้าลง เพียงแต่ให้แพทย์ได้มีเครื่องมือในการบำบัดรักษาได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเลิกยาเสพติดให้กับผู้เสพและช่วยให้คนเหล่านี้คืนสู่สังคมได้
- 507 views