ไทยโพสต์ - P4P ยังไม่จบง่ายๆ สหวิชาชีพสาธารณสุขโวยชนบท สหภาพพยาบาลชี้ P4P สร้างทางเลือกการพัฒนาวิธีการทำงานเรียกร้องเข้าร่วมออกความคิดเห็นดีกว่าบอยคอตน์ ชมรมสาธารณสุขชี้ให้มองภาพรวมบ้าง เมื่อค่าตอบแทนไม่ยุติธรรมความสามัคคีก็ไม่เกิด ด้านสมาคมหมออนามัยย้ำชัด P4P ลดการเลื่อมล้ำ
ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลกล่าวว่าเรื่อง P4P โดยหลักการ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ารูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถเพิ่มผลิตภาพของกำลังคนได้ หลายองค์กรนำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น เอกชน จ่ายให้แพทย์เป็นค่า doctor fee ตรวจคนไข้ ก็ได้รับ ไม่ตรวจก็ไม่ได้รับ เพียงประเด็นที่โต้แย้งกันในกระทรวงฯคือวิธีการวัดผลการทำงาน ว่ายุ่งยาก เสียเวลา หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา ของการเริ่มต้น ดังนั้น ถ้าระเบียบ ฉบับที่ 9 ที่กระทรวงเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการพัฒนาวิธีการทำงาน ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือการติดตามประเมินผล
"ปัญหาหนึ่งที่พยาบาลและสหวิชาชีพ กังวลก็คือ ความล่าช้าของการปรับปรุงระเบียบ ที่ว่ามาทั้ง 8.1 และ 9 เพราะยิ่งช้าการเยียวยาให้ทุกคนได้เท่าเดิมก่อนปรับปรุงหลักเกณฑ์ ตามมติครม. ก็ยิ่งทำให้ปัญหายืดเยื้อออกไปก็ต้องขอเรียกร้องให้ผู้แทนชทรมแพทย์ชนบทเข้าประชุม เพราะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของกระทรวงแล้ว ต้องมาช่วยกันหาทางออกพอท่านไม่เข้าประชุม ก็เสียโอกาสในการที่จะเสนอ แนวทางของท่านให้กรรมการพิจารณา และเสียโอกาสที่จะให้ความเห็นดีๆต่อกรรมการ" ดร.กฤษดา กล่าว
ด้านนายสำเริง จงกล ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยกล่าวถึงเรื่องค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี (P4P) ว่า ต้องมีภาระมาชี้วัดไม่ใช่รับเงินลอยๆประชาชนควรได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่เราได้รับ และความแตกต่างกันมากเกินไปทำให้ความรักความสามัคคีลดลง คนหนึ่งได้เงินมากสุดกู่ ส่วนอีกคนหนึ่งทำงานตรากตรำเหมือนกันแต่ได้เงินน้อย ไม่อยากให้ต่างกันมากไป ควรมีความรักสามัคคีกันการทำงานร่วมกันเหมือนไม่มีความจริงใจกันกลุ่มหนึ่งทำงานไปก็เอาประโยชน์เข้าตัว ส่วนอีกกลุ่มไม่กล้าเรียกร้องอะไรเพราะเป็นชนชั้นกลางชั้นผู้น้อย
"ความคิดเห็นการทำงานกับแพทย์ชนบทอยากให้อาจารย์หมอแพทย์ชนบทมองภาพรวม อย่ามองที่ตัวเองเป็นหลักให้มองคนกลุ่มอื่นด้วย เราเห็นใจอาชีพหมอที่ลำบากมีความเสี่ยงสูง ค่าตอบแทนท่านก็เหมาะสมอยู่ แต่มองชื่อเสียงของกระทรวงเราด้วย ค่าตอบแทนในบัญชี 4.6 ถือว่าได้เยอะมาก O.D หมอด้วยกันทำเหมือนกันหมดไหม บางครั้งอยู่กับร้าน ก็ขอให้ดูความเหมาะสมว่าเหมาะไหม เพราะเป็นมันสมองอยู่แล้ว เพื่อนร่วมงานไม่มั่นใจในผู้บังคับบัญชา ให้ดูทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลด้วย ผมเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.)ทุ่มเทงานเพื่อประชาชน มีโรคระบาดก็เข้าระงับเหตุ ผมไม่ได้ผลตอบแทน ผมอยู่ด้วยกัน แต่ท่านอิ่มหมีพีมัน แต่เราเหี่ยวแห้ง" นายสำเริงกล่าว
ขณะที่นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า เห็นด้วยในเชิงการคิดนโยบายของผู้บริหาร เป็นการนำภาระงานมาคิดเป็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงนแต่ละบุคคลในแต่ละวิชาชีพ จะเป็นธรรมในเม็ดเงินเป็นขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานถ้ามองเจตนาของพีฟอร์พี เพื่อลดความเลื่อมล้ำกระตุ้นให้เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
"ในกรณีที่แพทย์ชนบทจะเอาฉบับ 10 ของทีมแพทย์ชนบท น่าจะมาเสนอคณะกรรมการ ถ้าจะฟื้นฉบับ4กับฉบับ6เป็นฉบับ 10 ก็ไม่สามารถลดความเลื่อมล้ำในวิชาชีพได้ แต่ก็เป็นสิทธิที่จะยื่นเสนอได้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณาขเป็นครอบครัวเดียวกันก็น่าจะเข้ามาคุยกัน และที่สำคัญอยากให้ฉบับที่ 8.1 และฉบับที่ 9 เคลื่อนไปก่อน และมาทบทวนข้อดีข้อเสีย ประโยชน์คุ้มกับเม็ดเงินหรือไม่เพราะเป็นเงินภาษีของประชาชน แต่ถ้าใช้ฉบับที่ 10 จะไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ทำงานสนับสนุนงานบริการต่างๆ ส่วนฉบับที่ 9 จะทำให้กลุ่มสนับสนุนงานบริการต่างๆได้ค่าตอบแทนด้วย" นายกสมาคมหมออนามัยกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 12 ธ.ค. 56
- 27 views