ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - "เจตนาในการขยายตัว เพื่อทำให้ฐานของโรงพยาบาลไทยแข็งแกร่ง เออีซีที่น่ากลัวไม่ใช่หมอสมองไหล แต่อยู่ที่กองทุนต่างประเทศที่จะรุกเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าพวกเราอ่อนแอ ตอนนี้มีกระแสอยากเข้ามากอย่างกลุ่ม IHH มีกลุ่มมาเลย์ที่เพิ่งเข้ามาถือหุ้นในโรงพยาบาลไทย เมื่อก่อน ถ้าพวกผมไม่ควบรวมกลุ่มเฮลธ์เน็ตเวิร์ก พญาไท เปาโล แยกกัน แข่งกัน โอกาสที่กองทุนต่างชาติจะเข้ามาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำได้ง่าย แต่ที่ทำไม่ได้เพราะเราแข็งแรง"
สัญญาณอันตรายของการรุกเข้ามาของกองทุนต่างชาติ ซึ่ง อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พยายามสะท้อนภาพจากสถานการณ์ล่าสุด การประกาศเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มทุน "เคพีเจ เฮลธ์แคร์ เบอร์ฮาด" (KPJ Healthcare Berhad) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสุขภาพรายใหญ่ของมาเลเซีย มีเครือข่ายโรงพยาบาล 22 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลในมาเลเซีย 20 แห่ง อินโดนีเซีย 2 แห่ง และเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางการแพทย์ หรือ KPJ University College รวมทั้งมีเงินสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลของมาเลเซียในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
KPJ เป็นกลุ่มทุนมาเลย์รายแรกที่สามารถเจาะธุรกิจ โรงพยาบาลของไทย หลังจากบริษัท Integrated Healthcare Holdings Sdn Bhd (IHH) พยายามเข้ามาเจรจาร่วมทุนในไทย แต่ยังไม่สำเร็จและมีกองทุนต่างชาติอีกหลายแห่งที่จ้องเข้ามาบุกตลาดไทย
ทั้งนี้ กลุ่ม IHH ถือเป็นหัวหอกหลักที่รัฐบาลมาเลเซียในฐานะหุ้นใหญ่มากกว่า 60% ประกาศขยายฐานออกสู่ประเทศต่างๆ อย่างเข้มข้น เพื่อชิงตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล(เมดิคัลฮับ)และศูนย์กลางการบริหารสุขภาพ (เฮลธ์ฮับ) ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยึดเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาลในอาเซียนทั้งหมด
ปัจจุบัน IHH ยึดกิจการโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งบริษัท ปาร์คเวย์ สิงคโปร์ บริษัท Acibadem Group ของตุรกี มีการลงทุนทั้งในประเทศจีน อินเดีย ฮ่องกง เวียดนาม ตุรกี มาซิโดเนีย และบรูไน โดยมีกลุ่มธุรกิจหลัก 5 แบรนด์ ประกอบด้วย "พาร์คเวย์ แพนไท ลิมิเต็ด" ให้บริการดูแลสุขภาพเอกชนรายใหญ่สุดในเอเชีย มีเครือข่ายโรงพยาบาล 17 แห่ง ศูนย์แพทย์ คลินิก และธุรกิจดูแลสุขภาพเสริมกว่า 60 แห่ง
"อาซิบาเดม โฮลดิ้งส์" บริษัทดูแลสุขภาพเอกชนครบวงจรที่มีชื่อเสียงในตุรกี บริหารโรงพยาบาลในครือข่าย 15 แห่ง อยู่ในตุรกี 14 แห่ง มาซิโดเนีย 1 แห่ง มีคลินิกคนไข้นอก 12 แห่ง และมีธุรกิจสุขภาพเสริม เช่น บริการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รถพยาบาล บริการวางแผนออกแบบโรงพยาบาล
"ไอเอ็มยู เฮลธ์" เจ้าของและผู้บริหารมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นานาชาติ โดยเป็นมหาวิทยาลัยด้านสุขภาพแห่งแรกของมาเลเซียและมีมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนจากนานาประเทศอีก 36 แห่ง
"พาร์คเวย์ ไลฟ์ ไรธ์" ทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้านสุขภาพที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีสินทรัพย์ 37 แห่ง มีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (31 ธันวาคม 2555)และแบรนด์สุดท้าย "อพอลโล ฮอสปิตอลส์" เป็นผู้ให้บริการสุขภาพเอกชนที่ใหญ่สุดในอินเดียและมีเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างกว้างขวางในอินเดีย
IHH จึงเป็นคู่แข่งสำคัญของเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) หรือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์หรือ "BGH" ในฐานะเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีส่วนแบ่งในตลาดประมาณ 20% และมีมูลค่าในตลาดหุ้นติดอันดับ 5 ของโลก เนื่องจากทั้งสองค่ายแย่งชิงตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แต่การก้าวรุกอย่างแข็งแกร่งทำให้กลุ่ม BGH ตกมาเป็นที่ 2
นั่นทำให้กลุ่ม BGH ต้องเร่งแผนสร้างความแข็งแกร่งในประเทศและขยายฐานออกสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยกำหนดจุดยุทธศาสตร์แรกที่ประเทศพม่า เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเติบโตสูง บุคลากรทางการแพทย์ใกล้เคียงกับไทย ส่วนประเทศเป้าหมายรองลงมา คือ กัมพูชา และลาว รวมทั้งจีนที่อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนท้องถิ่น
โมเดลจะเริ่มจากการทำธุรกิจแล็บและเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างแบรนด์และความคุ้นเคยในตลาดก่อนลงทุนเปิดโรงพยาบาล โดยล่าสุดตั้งบริษัทย่อย 3 บริษัท ถือหุ้นผ่านบริษัท เอ็น เฮลท์ เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสิงคโปร์ ประกอบด้วย บริษัท เอ็น เฮลท์ เมียนมาร์ ในประเทศพม่าบริษัท เอ็น เฮลท์ ลาว ในลาว และบริษัท เอ็น เฮลท์ กัมพูชา ในกัมพูชา
เฉพาะในกัมพูชา ซึ่งมีโรงพยาบาลอยู่แล้ว 2 แห่ง คือ รอยัล รัตตนะและรอยัล อังกอร์ จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ รอยัลพนมเปญ ในปี 2557 ส่วนในพม่าเริ่มเปิดศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย มารักษาต่อในไทยและรอกฎหมายอนุญาตเปิดโรงพยาบาล รวมถึงการเปิดโรงพยาบาลที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย
ขณะที่ในไทยมีการขยายเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อรองรับตลาดลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ใน จ.อุดรธานี และขอนแก่น มูลค่าลงทุนกว่า 2,800 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาค
อัฐกล่าวว่า ตลาดเออีซีเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้ากับแบรนด์พญาไทและเปาโลมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดคลินิกในประเทศกลุ่มเออีซีและปีนี้เปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ในพม่าที่เมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ส่วนปีหน้าวางแผนเพิ่มครบ 5 แห่งกระจายไปยังลาว เขมร พม่า และมีตัวแถม แต่เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีมาก คือ ภูฏาน ซึ่งจัดเป็นคนรวยแบบเรียบง่าย มีเงินดูแลสุขภาพ ปัจจุบันมีคนภูฏานเดินทางมาคลอดลูกที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เกือบ 500 คน
อย่างไรก็ตาม แม้เครือ BDMS ตระเตรียมการเจาะตลาดเออีซีมานานเกือบ 5 ปี ซุ่มเงียบสร้างแบรนด์จนถึงขั้นเปิดคลินิกและมีเสียงเรียกร้องให้เปิดโรงพยาบาล แต่การดึงชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้มหาศาล ไม่ใช่แค่เม็ดเงินจาก "เฮลธ์ฮับ" แต่ต่อยอดได้อีกหลายธุรกิจ เนื่องจากชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษา 1 เคส จะมีครอบครัวติดตามมาอย่างน้อย 3 คน กลุ่มอาหรับอาจมากถึง 5-7 คน
จนกระทั่งกลุ่มเปาโลและพญาไทออกกลยุทธ์บริการรับคนไข้ตั้งแต่สนามบิน ติดต่อเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และวางแผนการชอปปิ้ง ซึ่งสามารถผูกมัดใจลูกค้าและบอกต่อกันในกลุ่มชาวต่างชาติปูทางก่อนขยายฐานต่างประเทศในอนาคต
หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่เร่งยกระดับ "เมดิคัลฮับ" อัฐอยู่ในวงการธุรกิจโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2542 ยุคที่วิชัย ทองแตงไล่ซื้อกิจการโรงพยาบาลมาบริหาร ใส่กลยุทธ์การตลาด พัฒนาคุณภาพจนสร้างกำไรและแบรนด์เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ
ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ประเทศไทยเป็น "เมดิคัลฮับ" แล้ว แต่ต้องก้าวไปมากกว่านั้น โดยเฉพาะการเป็น "อินเตอร์เนชั่นแนล เมดิคัล สกูล" เพื่อสร้างบุคลากร เทคโนโลยี รับมือกองทุนต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐที่จะเสริมยาแรง เพิ่มความแข็งแกร่งให้โรงพยาบาลเอกชนก่อนจะแปรสภาพเป็นเมดิคัลฮับในมือ ต่างชาติทั้งหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ต.ค. 2556--
- 132 views