ความเคลื่อนไหวในธุรกิจโรงพยาบาลช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้าซื้อกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือแม้แต่การควบรวมกิจการระหว่าง 2 เครือข่ายโรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิการแข่งขัน ยังเห็นในเรื่องของการทำตลาดเพื่อดึงฐานลูกค้าให้เข้าใช้บริการกันอย่างรุนแรง ด้วยแคมเปญและโปรโมชันเฉพาะกับกลุ่มลูกค้าผู้สนใจและห่วงใยสุขภาพของตนเอง ที่ต้องการป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ละเครือข่ายโรงพยาบาลต่างก็ชูความโดดเด่นในด้านการรักษา และการให้บริการกับศูนย์การแพทย์ที่มีไว้คอยให้บริการแบบครบวงจร

ไวทัลไลฟ์ผนึกบำรุงราษฎร์

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ เป็นศูนย์สุขภาพด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในประเทศไทยดำเนินงานและถือหุ้น100% โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งดำเนินงานมาครบ 12 ปีแล้ว ถือได้ว่าเป็นผู้นำในตลาดศูนย์ส่งเสริมสุขภาพที่ไม่ใช่ด้านความงาม ด้วยส่วนแบ่งกว่า 50% สิ่งที่ศูนย์ไวทัลไลฟ์ใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาด คือ มาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่เน้นในเรื่องของคุณภาพและการดำเนินงานภายใต้จรรยาบรรณแพทย์

นายแอนโทนี่ จู๊ด ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวทัล ไลฟ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงการแข่งขันของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพว่า มีความรุนแรงมาก เพราะคู่แข่งมีจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของราคาเป็นหลัก ซึ่งศูนย์อยู่ภายใต้การบริหารงานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงเน้นในเรื่องคุณภาพตามหลักการแพทย์ ส่วนการทำตลาดในปีนี้ก็ได้เพิ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพองค์รวมเฉพาะบุคคลรูปแบบใหม่ Future Health และยังเตรียมปรับปรุงอาคาร 8 ชั้นใหม่ ด้วยงบลงทุน 20-30 ล้านบาท เนื่องจากเดิมทางศูนย์ใช้พื้นที่อาคารเพียงบางส่วน แต่หลังจากปรับปรุงพื้นที่แล้ว ใช้พื้นที่อาคารทั้งหมดทำให้สามารถรองรับผู้เข้ามาใช้บริการได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการกว่า 1.5 พันรายต่อปี ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ย 15-20% โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ร.พ.กรุงเทพเป้าขยายครบ 50 แห่ง

น.พ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์และกรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) และประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้วางเป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีโรงพยาบาลในเครือครบ 50 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือทั้งในและต่างประเทศจำนวน 30 โรง ซึ่งการทำงานของโรงพยาบาลในเครือทั้งหมดจะเป็นการทำงานร่วมกัน

สำหรับโรงพยาบาลวิภาวดี ได้มีการเปิดใช้อาคารหลังใหม่เป็นตึก 8 ชั้น เพื่อรองรับการเติบโตได้อีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้ย้ายแผนกบริการทางการแพทย์เข้าไปครบทุกชั้น พร้อมกับเพิ่มจำนวนเตียงอีก 60 เตียง ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 300 เตียง สามารถรองรับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้บริการวันละ 1.5 พันคน

ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลยังได้พัฒนาเครื่องมือทางการตลาดในรูปแบบ "ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง" ผ่านแอพ พลิเคชันเพื่อสุขภาพ ชื่อว่า V Health Check  โปรแกรมการตรวจสุขภาพเบื้องต้น 9 โรคหลัก อาทิ ความดันโลหิต เบาหวาน มะเร็ง คาดหวังว่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่

สำหรับน.พ.ชัยสิทธิ์ คุปต์วิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า การขยายสาขามีทั้งในลักษณะของการสร้างใหม่และการร่วมทุน เพราะเป็นการสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว บริษัทจึงอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 โรงพยาบาลเพื่อร่วมทุนหรือซื้อกิจการในส่วนของการสร้างใหม่อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร, สมุทรสาคร และโรงพยาบาลธัญญเวช ขนาด 150-200 เตียง งบลงทุนเฉลี่ย 600-700 ล้านบาทต่อสาขา

ธนบุรีทุ่ม 700 ล้าน

แม้ว่าโรงพยาบาลธนบุรี ของบริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด (มหาชน) จะตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกของย่านธุรกิจ แต่ก็เป็นทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ศูนย์กลางธุรกิจได้อย่างง่ายดาย แต่การที่โรงพยาบาลจะแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ได้นั้นจะต้องมีการให้บริการที่ครบและทันสมัย ช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลธนบุรีจึงทุ่มงบกว่า 700 ล้านบาท เพื่อลงทุนศูนย์เฉพาะทางด้านการเอกซเรย์ LINAC (LINEAR ACCELERATOR) และจะใช้เงินอีก  80-100 ล้านบาท ในการปรับปรุงแผนกผู้ป่วยนอก ในส่วนของศูนย์ตรวจสุขภาพ (Health Promotion) เพื่อการรองรับจำนวนผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันคนจากปัจจุบันที่มีผู้ป่วยนอก 1.3-1.5 พันคน และเพิ่มเตียงขึ้นอีก 100 เตียง จากปัจจุบัน 435 เตียงด้วย

พญาไทเปิด 2 ศูนย์

เครือโรงพยาบาลพญาไท ภายใต้การบริหารของนายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลและผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 3  ก็ทำการเปิดตัว 2 ศูนย์การแพทย์ที่พร้อมกับเปิดตัวแผนกผู้ป่วยในของศูนย์สุขภาพหญิงที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะห้องพักระดับไฮคลาส แบบ Presidential Suite สำหรับศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและโรคตับ, ศูนย์สมองและระบบประสาท, ศูนย์กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นโรคที่มีความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

โดยศูนย์ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณชั้น 2  ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าใช้บริการได้ง่าย จึงจัดให้ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและโรคตับมีบริการครบวงจรแบบ One Stop Service ขณะที่ศูนย์สมองและระบบประสาท ได้มีการเชื่อมโยงกับศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินโดยในโซนฝั่งธนบุรี  ซึ่งร.พ.พญาไท 3 เป็นศูนย์ใหญ่แห่งหนึ่งในการให้บริการโครงการ Bangkok Emergency Service หรือ BES พร้อมเปิดตัวห้องสุดหรูระดับไฮคลาสแบบ Presidential Suite ที่เป็นส่วนตัวทั้งคนไข้และญาติมีดีไซน์และคุณภาพการให้บริการมาตรฐานโรงแรม โดยทุ่มงบกว่า 80 ล้านบาท

เกษมราษฎร์แตกแบรนด์ใหม่

สำหรับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ของน.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มีทิศทางการดำเนินธุรกิจทั้งการแตกแบรนด์ใหม่ และขยายสาขาเพิ่ม ซึ่งแบรนด์ล่าสุด คือ "เวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์" ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนแบรนด์ใหม่ที่เป็นโรงพยาบาลระดับล่างขนาด 100 เตียง เน้นดูแลลูกค้าประกันสังคม บัตรทอง และข้าราชการ จะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้

ไม่ว่ากลุ่มของโรงพยาบาลจะมีการขยายตัวกันมากเพียงใด จะมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการแค่ไหน หากโรงพยาบาลนั้นไม่มีมาตรฐานการรักษา ด้วยจรรยาบรรณทางการแพทย์เป็นตัวนำ เหนือเกมการตลาด ในสุดท้ายธุรกิจก็ไม่อาจจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน

"โรงพยาบาลมีการแข่งขันทั้งคุณภาพและบรกำรครบวงจร"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 1 - 4 ก.ย. 2556--