“หมอสมศักดิ์” เผย เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ต้องดูแลแบบองค์รวม ตามความต้องการของแต่ละเจน

“หมอสมศักดิ์” เผย เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ปี 2566 แต่ละวัย สูงวัยต้องเป็น Healthy Ageing ส่วนคนทำงานและ Gen Z สนใจดูแลรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น พร้อมเชื่อมั่นโรงพยาบาลไทย บริการทางด้านสุขภาพโตได้ไกลแน่นอน

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเบาบางลง แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เทรนด์สุขภาพปี 2566 จะมีอะไรบ้าง ภายในงานครบรอบ 2 ปีแห่งความสำเร็จ โรงพยาบาลวิมุต ที่ดำเนินธุรกิจเฮลท์แคร์ บริการสุขภาพภายใต้การดูแลอย่างใส่ใจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่องอาการเจ็บป่วย แต่ต้องเป็นสุขภาพในองค์รวมหรือ Wellness 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยอยู่กับโรคโควิดมา 3 ปีแล้ว เทรนด์การดูแลสุขภาพเปลี่ยนไปด้วย ก่อนเกิดโรคโควิด Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) ประชาชนยังไม่ค่อยใช้ เพราะคนไข้อยากมาโรงพยาบาลมากกว่าโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยากมาเจอหน้าหมอ แต่พอมีสถานการณ์โควิด คนใช้บริการเยอะขึ้นมาก เปลี่ยนเทรนด์ไปหมด การดูแลรักษาก็เปลี่ยนไป มีการดูแลรักษาตัวที่บ้านได้ด้วย HOME Isolation หรือมานอนที่ Hospitel จึงเห็นได้ว่า เทรนด์สุขภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอด และไม่รู้ว่า จะมีโรคใหม่ ๆ เข้ามาอีกไหม ทำให้ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ตลอดเวลา

ด้านแนวโน้มในภาพรวมของโรงพยาบาลเอกชน และปัจจัยความต้องการทางการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ตอนนี้ที่เป็นช่วงหลังโควิด ประชาชนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประชากรในประเทศไทยก็คิดไม่เหมือนกัน บางคนต้องการ การดูแลสุขภาพแบบหนึ่ง บางคนสามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างดี แต่คนรุ่นเก่าจะเป็นอนาล็อก โรงพยาบาลวิมุตจึงต้องดูแลอย่างครอบคลุมถึงคนที่ใช้แอปพลิเคชันของโรงพยาบาลไม่ได้ด้วย 

"เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ปี 2566 "

"สภาพัฒน์เคยวิเคราะห์ว่า บริการทางด้านสุขภาพเป็น S Curve ก้าวกระโดดได้ จริง ๆ ก่อนโควิด ทุกคนเคยจะเป็น Medical Hub ทั้งโรงพยาบาลเครือใหญ่ ๆ โรงเรียนแพทย์หลายแห่ง เตรียมกันใหญ่โต พอโควิดก็มีปัญหา คนเดินทางไม่ได้ ตอนนี้โควิดเริ่มหมดไปก็เป็นโอกาส เคยมีการประมาณการว่า ธุรกิจสุขภาพจะโตถึง 5 แสนล้านบาท จริง ๆ ในปี 2565 ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดจะประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ตรงนี้โตได้แน่นอน อยู่ที่ประเทศไทยจะคว้าโอกาสตรงนี้ไหม สำหรับข้อเด่นที่มีมากกว่าประเทศอื่นมี 3 ข้อ"

  1. Thai Hospitality ธรรมเนียมแบบคนไทย สยามเมืองยิ้ม สร้างความประทับใจ ดูแลอย่างดี บรรยากาศเป็นมิตร
  2. บริการทางการแพทย์ของไทยเป็นแนวหน้าของโลก ที่ต่างชาติยอมรับ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน เมื่อจัดอันดับโลก ประเทศไทยจะอยู่ที่ Top 3 หรือ Top 5 เรื่องบริการทางการแพทย์อย่างชัดเจน
  3. ประเทศไทยมีราคาที่จับต้องได้

สำหรับ เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ปี 2566 นพ.สมศักดิ์ เปิดเผยว่า เทรนด์สุขภาพจะขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงวัย ผู้สูงอายุทำอย่างไรให้เป็น Healthy Ageing ก็คงต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ส่วนคนที่อายุน้อย ไม่เกิน 35 ปี โดยเฉพาะผู้หญิง Gen Z จะสนใจรูปลักษณ์ตัวเองเยอะขึ้น ส่วนการดูแลสุขภาพตามหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ก็ยังเป็นหลักใหญ่ นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) และยังมี Wellness ที่ดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพที่กำลังไปข้างหน้า การดูแลรักษาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็เปลี่ยนตลอด จึงต้องจับเทรนด์ ทั้งการเจริญเติบโตทางธุรกิจ และการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละเทรนด์ที่แตกต่างกัน   

"รพ.วิมุต มีบริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับทุกคนในครอบครัว ภายใต้กลยุทธ์ HOLISTIC HOSPITAL เน้นการบริการคนไข้แบบองค์รวมหรือ Holistic Care ตั้งแต่การป้องกัน ส่งเสริม รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ โดยเป็นผู้นำด้าน Trusted Healthcare Platform นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาให้บริการ ดูแลผู้ป่วยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ViMUT Application ที่ให้บริการให้คำปรึกษาสุขภาพและติดตามการรักษา นอกจากนี้ ในอนาคตจะพัฒนาสู่การเป็นโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านจากเครื่องติดตามการทำงานของร่างกาย หากมีเหตุฉุกเฉินหรือผิดปกติทีมแพทย์สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที บริการเจาะเลือดไม่ต้องมาโรงพยาบาล และผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อยกระดับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล" นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคต่าง ๆ ในประเทศไทย ว่า สถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน มุมมองโรคจะมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 

  • โรคติดต่อ ตัวอย่างโรคติดต่ออันตราย คือ โควิด อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนโรคที่ไม่อันตรายแต่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคปอดอักเสบหรือโรคไข้เลือดออก หากเทียบปี 2564 กับปี 2565 พบว่า โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงถึง 130 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะ 3 เดือนสุดท้ายหรือไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ตัวเลขพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุมาจากการผ่อนปรน ไม่เคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง ตัวเลขจึงสูงกว่าปี 2564
  • โรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดัน มีแนวโน้มที่ลดลงในปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดโควิดคาดว่า คนใส่ใจสุขภาพและดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้สถานการณ์โรคเหล่านี้ลดลง แต่ถ้าดูเทรนด์ทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000-2019 ช่วง 20 ปี ก่อนเกิดโควิด โรคติดต่อจะน้อยลง แต่โรคไม่ติดต่อจะเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะคนทำงานแล้วไม่ค่อยดูแลสุขภาพ จึงพบโรคอ้วน โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

"เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ปี 2566"

นพ.สมบูรณ์ เพิ่มเติมว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรค พบว่า โรคมะเร็งจะสูงกว่าโรคอื่น 2 เท่าตัว รองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอักเสบ โรคปอดบวม และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคซับซ้อนมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องพันธุกรรม อาชีพการทำงาน คนที่ทำงานเจอสารเคมี และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 การรักษาและการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงก็ยิ่งซับซ้อน ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูง รพ.วิมุต จึงมีแผนที่จะดำเนินการต่อไปคือการขยายบริการให้ครอบคลุมโรคยากและซับซ้อนให้มากยิ่งขึ้น โดยเข้าร่วมลงทุนในโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ซึ่งมีชื่อเสียงในกลุ่มโรคยากและซับซ้อน เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เพื่อรวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนำองค์ความรู้มาพัฒนาศูนย์เฉพาะทางของวิมุต เพราะการรักษาโรคยากและซับซ้อนในประเทศไทยถือว่ายังคงอยู่ในวงจำกัด จึงเป็นโอกาสในการขยายบริการให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเหล่านี้ได้ และเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ธุรกิจสุขภาพ

‘พฤกษา’ รุกธุรกิจ รพ. เปิด ‘รพ.วิมุตติ’ เจาะคนไข้ตลาดกลาง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org