สปสช.จับมือ 17 รพ.เอกชนนอกระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. ร่วมเป็น “สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร” ช่วยเพิ่มจำนวนเตียงในระบบเกือบ 600 เตียง เป็นทางเลือกใหม่กรณีต้องส่งต่อรักษา หากโรงพยาบาลในระบบเตียงเต็มหรือรอคิวนาน โทร.มาที่สายด่วน 1330 กด 9 เจ้าหน้าที่จะประสานส่งต่อไปยัง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมเพื่อรักษารวดเร็วขึ้น รวมถึงการรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่เคยต้องรอคิวนาน เช่น ผ่าตัดทำเส้นเลือดฟอกไต จะประสานส่งต่อไปยัง รพ.เอกชนที่พร้อมเพื่อลดการรอคิว  เผยหลังเริ่มให้บริการมีผู้ป่วยได้รับการส่งต่อรักษาแล้ว 2,930 คน 

วันที่ 5 มิ.ย. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 5,487,078 คน ไม่รวมประชากรแฝงอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ รพ.รับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) มีจำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิและการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 7 จึงกำหนดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลอื่นได้ (สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบฯ) ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด โดยรวมถึงการรักษาพยาบาลที่มีเหตุสมควร เช่น กรณีภาวะเจ็บป่วยที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการดูแลที่ต้องส่งต่อรักษา เป็นต้น    

ทั้งนี้ เพื่อขยายสถานพยาบาลนอกระบบบัตรทองรองรับการดูแลผู้ป่วย สปสช.ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่นอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 นี้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 17 แห่ง ดังนี้ 1.รพ.กล้วยน้ำไท 2.รพ.ปิยะเวท 3.รพ.บางนา1 4.รพ.เพชรเวช 5.รพ.บางนา5 6.รพ.มเหสักข์ 7.รพ.แพทย์ปัญญา 8.รพ.มิตรประชา 9.รพ.ศรีสวรรค์ กรุงเทพ 10.รพ.พีเอ็มจี 11.รพ.สุขสวัสดิ์อินเตอร์ 12.รพ.อินทรารัตน์ 13.รพ.นวมินทร์ 14.รพ.วิภารามปากเกร็ด 15.รพ.บางโพ 16.รพ.กรุงเทพสนามจันทร์ และ 17.รพ.บางไผ่ ทั้งนี้จากผลความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ในครั้งนี้ ทำให้ระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. สามารถขยายจำนวนเตียงสำรองเพิ่ม 582 เตียง เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยใน 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ สปสช. มีการปรับแนวทางการให้บริการใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมการรับส่งต่อทั้งกรณีบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จากเดิมที่จำกัดเฉพาะรับส่งต่อผู้ป่วยในเท่านั้น พร้อมรับส่งต่อการบริการเฉพาะด้าน อาทิ ผู้ป่วยสวนหัวใจ เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเส้นฟอกไต เป็นต้น โดยช่องทางในการประสานส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับบริการที่สถานพยาบาลเอกชนนอกระบบบัตรทองนี้ หน่วยบริการที่ต้องการประสานส่งต่อผู้ป่วยสามารถโทร. “สายด่วน สปสช. 1330 กด 9” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ดำเนินการประสานหาเตียงต่อไปได้
 
ส่วนการเบิกจ่ายค่าบริการนั้น สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร ที่รับส่งต่อผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลมาเบิกจ่ายมาที่ สปสช. ได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและทำให้ระยะเวลาการเบิกจ่ายรวดเร็วมากขึ้น 
 
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า แนวทางใหม่ของการบริการสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรนี้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 จากข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับการส่งต่อและรับบริการที่สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรแล้ว จำนวน 2,930 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยใน 526 คน และผู้ป่วยนอก 2,404 คน นอกจากนี้ในจำนวนนี้ยังเป็นผู้ป่วยที่รับบริการผ่าตัดเส้นฟอกไต จำนวน 133 คน พบว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ง่ายและสะดวกขึ้น ในส่วนของบริการผู้ป่วยนอกที่เคยต้องรอคิวนานเช่น บริการผ่าตัดเส้นฟอกไต ก็พบว่าลดการรอคิวได้ และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับบริการฟอกไตโดยเร็ว