"พญาไท-เปาโล" เปิดเกมรุก ปักธงย่านรังสิต เช่าที่ดินแปลงงามตระกูลหวั่งหลี ผุด ร.พ.150 เตียง ติดฟิวเจอร์ พาร์ค รับเมืองขยายตัว เปิดให้บริการกลางปี 2558 งัดกลยุทธ์ซินเนอร์ยี โรงพยาบาล-คลินิก ส่งต่อคนไข้ สร้างรายได้เพิ่ม ชี้สถานการณ์ ศก.-การเมืองไม่นิ่ง ตั้งเป้าโตแบบคอนเซอร์เวทีฟ
ขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่เอื้อกับการลงทุนใหม่นัก แต่ล่าสุด กลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่เป็นเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุด ได้เปิดเกมรุกอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการหันมาลงทุนเพื่อขยายสาขาใหม่เอง จากเดิมที่เน้น "การซื้อกิจการ" เป็นกลยุทธ์หลักในการขยายธุรกิจ และครั้งนี้เป็นการรุกไปยัง ทำเลกรุงเทพฯตอนเหนือซึ่งยังไม่มี โรงพยาบาลค่ายใหญ่เปิดให้บริการ
ขึ้นโรงพยาบาลใหม่บุกรังสิต
นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือ ร.พ.พญาไท-เครือ ร.พ.เปาโล เมโมเรียล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการลงทุนปี 2557 ว่า เตรียมงบฯไว้เกือบ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯที่ใช้ในการบริหารจัดการในโรงพยาบาลเดิม และซื้อเครื่องมือแพทย์ 700 ล้านบาท อีก 300 ล้านบาทเป็นการลงทุนขยายสาขาใหม่ คือ สาขารังสิต ติดกับฟิวเจอร์ พาร์ค จะใช้แบรนด์เปาโล ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นลักษณะเช่าที่ดินของฟิวเจอร์ (ตระกูลหวั่งหลี) ระยะเวลา 30 ปี พื้นที่ 7-8 ไร่ เป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง ออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน เฟสแรกจะ ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกและคลินิก คาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 2558
ที่ผ่านมากลุ่มพญาไทและเปาโลไม่มีการลงทุนสร้างสาขาใหม่มาหลายปี ก่อนหน้านี้มีแผนเจรจาร่วมทุนกับโรงพยาบาลในย่านดังกล่าว แต่จากการสำรวจพบว่า ย่านรังสิตเป็นตลาดที่ใหญ่ มีทางด่วน ตัดผ่าน 2 สาย มีหมู่บ้านจำนวนมาก จึงตัดสินใจสร้างเอง การขยายสาขาดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการจะขยายสาขาให้ครอบคลุม 4 มุมเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล และจะทำให้มีสาขา ทั้งสิ้น 9 สาขา เป็นแบรนด์พญาไท 5 สาขา และเปาโล 4 สาขา
ส่วนสาขาอื่น ๆ จะมีการรีแบรนด์เปาโล นวมินทร์ เป็นแบรนด์พญาไท เนื่องจากมองว่าหลังจากซื้อกิจการมาได้ 2 ปี มีการเติบโตที่ดีมาก จึงมองเห็นโอกาสสามารถขยับเป็นการให้บริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) อย่างเต็มที่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย่านฟิวเจอร์ฯ รังสิต เป็นทำเลศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯตอนเหนือ กับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ การเดินทางสะดวกด้วยทางด่วนดอนเมือง-โทลล์เวย์ ทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 และถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก และตะวันตก ขณะเดียวกันก็มีการขยายตัวของเมือง ชุมชน หมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วน โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการกระจายตัวรอบ ๆ หลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลเอกปทุม, แพทย์รังสิต และปทุมเวช โดย โรงพยาบาลที่มีทำเลใกล้กับฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิตมากที่สุดก็คือ ปทุมเวช
ชูยุทธศาสตร์ซินเนอร์ยี
นายอัฐย้ำว่า กลุ่มพญาไทและเปาโลดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดการ "ซินเนอร์ยี" หรือการควบรวมกิจการ โดยการตัดสินใจลงทุนจะพิจารณาซื้อกิจการเป็นทางเลือกแรก ๆ เพราะมองว่าการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้วและมีโอกาสที่จะเข้าไปพัฒนาต่อ ทำให้สร้างการเติบโตและรายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองเฉพาะการซื้อกิจการอย่างเดียว
กลยุทธ์จากนี้จะเน้นการครีเอตบริการ ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า (Higher Value) ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รับคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น เข้าถึงบริการรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้เร็วในแง่ของฐานลูกค้า และจะให้ความสำคัญกับการ ซินเนอร์ยีกับพาร์ตเนอร์ในแง่ของการส่งต่อคนไข้ ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทำมาแล้วระยะหนึ่ง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่รายได้จากการส่งต่อคนไข้เติบโตมาก หรือมีสัดส่วนสูงถึง 20-30%
โดยการซินเนอร์ยีจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.โรงพยาบาลสแตนด์อะโลนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยลักษณะความร่วมมือเป็นการส่งบุคลากร ไปให้ความรู้และเทรนทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบเทเลเมดิซีน สำหรับการปรึกษาทางไกล รวมถึงการส่งต่อ คนไข้ ซึ่งตอบสนองความต้องการของ โรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีแพทย์เฉพาะทางน้อย 2.ระดับคลินิก จะร่วมมือกับโลคอลคลินิกหรือคลินิกเดิมที่มีอยู่แล้วในแต่ละ ชุมชน ซึ่งอาจจะลงทุนด้านแล็บบ้าง มี 3 สาขา อยู่ระหว่างทดลองโมเดล
เพิ่มแนวรบตลาดต่างประเทศ
ส่วนแผนระยะกลางจะเน้นการดูแลกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับกลาง มีสัดส่วน 60% ของประชากร ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก และยังมีโพเทนเชียลจะเติบโตอีกมาก ส่วนตลาดต่างประเทศยังมีสัดส่วนน้อยแต่มีแนวโน้มดี และจะใช้กลยุทธ์หลักคือการซินเนอร์ยีกับสถานพยาบาล เพื่อให้ความรู้ ทางการแพทย์และส่งต่อคนไข้ในต่างประเทศ อาทิ ภูฏาน กัมพูชา เวียดนาม นอกจากนี้ภายในปี 2558 ยังมีแผนยื่นขอ เจซีไอ (Joint Commission International) เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มคนไข้จากต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ นายอัฐยังกล่าวถึงผล กระทบจากการชุมนุมทางการเมืองว่า มีโรงพยาบาลในเครือเปิดให้บริการในย่านใกล้เคียงจุดชุมนุม 3 สาขา คือ พญาไท 1 พญาไท 2 และเปาโล สาขาพหลโยธิน ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์เฉลี่ยคนไข้หายไป 30% แต่หลังจากเปิดใช้เส้นทางก็เริ่มมีคนไข้เข้ามาใช้บริการตามปกติ
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยในแง่ของภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยที่อัตราการเติบโตของจีดีพีอาจจะมีไม่มากนัก บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ปีนี้จึงตั้งเป้าการเติบโตแบบคอนเซอร์เวทีฟ หันมาเน้นเรื่องประสิทธิภาพในองค์กรเพื่อรักษาอัตราการเติบโตของกำไร โดยพยายามรักษาการเติบโตเป็นเลข 2 หลัก แต่อาจจะไม่สูงเท่าปีที่แล้ว ที่กลุ่มพญาไทและเปาโลมีรายได้รวมถึง 14,000 ล้านบาท
"ในแง่ของธุรกิจจะต้องประมาณผล กระทบขั้นสูงสุดไว้ก่อน จะได้ปรับแผนว่าจะผ่านไปได้อย่างไร นโยบายตอนนี้ปรับแผนทุกเดือน แต่โอกาสจะโตถึง 10% ยังมีแต่ต้องประเมินสถานการณ์แบบคอนเซอร์เวทีฟ ไม่คาดหวังว่าจะโตตามปกติ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยาวขนาดไหน และปรับองค์กรให้พร้อมและมีประสิทธิภาพ (Lean) ที่สุด เพื่อลดต้นทุน เช่น อาจจะซินเนอร์ยีเครื่องมือระหว่างโรงพยาบาลในเครือ ศึกษาพฤติกรรมลูกค้า สร้างแวลูยกระดับศักยภาพการแพทย์ เพราะเมื่อไหร่ที่คนพร้อมเขาก็จะเลือกเราก่อน" นายอัฐกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 - 12 ก.พ. 2557
- 83 views