จากกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) บรรจุยาสลับซองระหว่างยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) ซึ่งเป็นยาขยายหลอดเลือด และยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) ซึ่งเป็นยาลดความดันโลหิต โดยได้กระจายไปยังโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และจ่ายยาให้ ผู้ป่วยไปบ้างแล้ว แม้ล่าสุด อภ.จะแถลงว่าไม่ต้องกังวล มีการเรียกคืนยาดังกล่าว และพร้อมรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบ แต่แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่น และจะทำอย่างไร
เรื่องนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซลส์) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เห็นว่า ปัจจุบันมียาจำนวนมากที่ออกฤทธิ์ซ้ำและก้ำกึ่งกัน เช่น ยาลดไข้ก็สามารถแก้ปวดได้ หรือยาละลายลิ่มเลือดก็แก้ปวดได้ด้วย ทำให้เกิดปัญหายาเป็นพิษ ปัญหานี้มักพบได้กับคนที่ใช้ยาเยอะอยู่แล้ว หรือมียาประจำตัวอยู่แล้ว ต่อไปก็จะเจอปัญหาสับสนกับการใช้ยาเพราะประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมอุดมยา ซึ่งกฎพึงระวัง คือ การกินยายิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงมาก ทั้งพิษจากยาและยาออกฤทธิ์ตีกัน
สำหรับแนวทางแก้ปัญหากินยามาก แนะนำ 5 เทคนิคจัดโปรแกรมกินยาไม่สับสน คือ 1.แยกยาเป็นชนิดเขียนชื่อกำกับไว้ให้ชัดเจน 2.เขียนฉลากโดยเขียนฤทธิ์ยาสั้นๆ ติดไว้ พร้อมวิธีรับประทาน 3.ใช้ตลับแบ่งยา ข้อนี้ช่วยคนกินยาเยอะไม่ให้กินยาซ้ำ เช่น ยาละลายลิ่มเลือดหากกินซ้ำเข้าไปก็อาจทำให้ตกเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 4.พกยาติดตัวไปหาหมอเพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายยาซ้ำ และ 5.ขอให้ถามหากสงสัย โดยเฉพาะเรื่องของยาซ้ำ ให้ถามแพทย์หรือเภสัชกร
นพ.กฤษดากล่าวอีกว่า จากประสบการณ์การรักษาคนไข้ ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับภาษาทางเคมีและปฏิกิริยาในทางเภสัชวิทยา ทำให้เกิดความสับสนในเรื่องของการใช้ยา คือ ยาลดความดันกับยาโรคหัวใจ ยากลุ่มนี้มีอยู่มาก บางตัวลดความดันและทำให้หัวใจเต้นช้าลง แต่ถ้ารับประทานผิดหรือซ้ำซ้อนจนทำให้มากเกินไป อาจทำให้หัวใจเต้นช้า มึนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยไม่รู้สาเหตุ ยิ่งกว่านั้นถ้าเป็น
ภูมิแพ้หอบหืดอยู่จะถึงขั้นหลอดลมตีบเสียชีวิตได้ ยาลดไขมันคอเลสเตอรอลกับยาลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ถูกเรียกให้สับสนว่า "ยาลดไขมัน" เหมือนๆ กัน ซึ่งการรับประทานมากเกินไปและต่อเนื่อง อาจส่งผลให้มึนศีรษะ ไม่สบายตัว ปวดตามร่างกาย และทำให้ตับทำงานหนักถึงขั้นเสื่อมเร็วได้ ยาแก้ปวดกับยาคลายกล้ามเนื้อ ยาประเภทนี้มักถูกจ่ายคู่กันซึ่งในหลายครั้งไม่จำเป็นต้องกินควบเลย
"ยาแก้แพ้กับยาแก้หวัด เป็นยาที่ถูกจ่ายบ่อยมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีหลักง่ายคือ ยาแก้แพ้บางชนิดไม่ใช่ยาแก้หวัด และยาแก้หวัดบางชนิดก็ไม่อาจแก้แพ้ได้ ข้อสำคัญคืออย่าใช้ซ้ำซ้อนกันมาก หากเป็นหวัดไปหาคุณหมอขอให้บอกว่าท่านใช้ยาเหล่านี้อยู่ครับจะได้ไม่ถูกจ่ายยาซ้ำ ยาแก้อักเสบกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ยา 2 ชนิดนี้ไม่ใช่ยาตัวเดียวกันเลย แต่ถูกจับมาเรียกจนคุ้นปากคุ้นหู ขอให้ทราบว่ายาแก้อักเสบมีอยู่กว้างมากและฆ่าเชื้อไม่ได้ ส่วนยาฆ่าเชื้อนั้นก็ใช่ว่าจะแก้อักเสบได้เสมอไป ถ้าใช้ยาฆ่าเชื้อนานไปจะเสี่ยงเชื้อดื้อยามากขึ้นด้วย ยังมียาช่วยระบายกับยาถ่าย ยกตัวอย่างยาช่วยระบายเช่น ใยอาหาร มะขามแขก ส่วนยาถ่ายคือแบบที่ทำให้ปวดลำไส้ถ่ายเหลวคล้ายท้องเสีย หากรับประทานร่วมกันจะทำให้เกิดอันตรายถ่ายจนถึงขั้นช็อกได้" นพ.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย
ตัวอย่างการบริโภคยาเล็กๆ น้อยๆ ที่พึงระวัง
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 93 views