มติชน -"ปัญหาของเด็กออทิสติก คือ ผู้เลี้ยงแทบแยกไม่ออกว่าพวกเขาป่วย เพราะลักษณะภายนอกไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่เปิดใจยอมรับทำให้เสียโอกาสในการรักษา..." นางปิยนุช อิสริยะวาณิช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการชั้นสูงการพยาบาลเด็ก ผู้ก่อตั้งคลินิกพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลระนอง กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนและทีมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ (สปสช.) ศึกษาดูงานคลินิกดังกล่าว เมื่อ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
คลินิกพัฒนาการเด็ก ก่อตั้งในปี 2546 หลังจากสำรวจพบว่า มีเด็กร้อยละ 11 มีปัญหาพัฒนาการช้า ขณะที่ปี 2553 สปสช.สำรวจผู้ป่วยนอกกลุ่มออทิสติก พบ 6,753 คน มารับบริการ 28,005 ครั้ง แต่ปี 2554 กลับพบผู้ป่วยเพิ่มเป็น 12,531 คน เข้ารับบริการถึง 75,817 ครั้ง และยิ่งเพิ่มขึ้นในปี 2555 เป็นผู้ป่วย 15,234 คน เข้ารับบริการ 108,298 ครั้ง เห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอยู่อีกมาก หากสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้จะช่วยให้พวกเขาอยู่ในสังคมเหมือนคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงก่อตั้งคลินิกดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการดูแลแบบครบวงจร ไม่เพียงแต่ตั้งรับในโรงพยาบาล แต่จัดทำเป็นเครือข่ายนอกโรงพยาบาล ทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยเฉพาะครอบครัว ได้จัดตั้งเป็นชมรมผู้ปกครองเด็กออทิสติกขึ้น
นางปิยนุช อธิบายว่า ชมรมผู้ปกครองฯ สำคัญมาก เพราะไม่มีใครจะเข้าใจได้ดีเท่ากับคนที่เผชิญปัญหาเหมือนกัน หลายครั้งพ่อแม่บางท่านก็ไม่ยอมรับอาการของลูกอาจเพราะไม่สังเกต หรือไม่อยากให้ใครมามองลูกผิดปกติทั้งๆ ที่ไม่ใช่ หากสามารถสังเกตอาการลูกได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ โอกาสที่พวกเขาจะอยู่ในสังคมเหมือนคนปกติย่อมมีสูง ดังนั้น การตั้งชมรมผู้ปกครองจะช่วยในแง่ของการสอดส่องดูแล และให้คำแนะนำกับบุคคลภายนอกที่ยังไม่เข้าใจ นอกจากนี้ โรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่าง เนื่องจากครูอาจารย์ต้องเข้าใจว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กอื่นๆ บางคนเรียนร่วมกันได้ บางคนก็เรียนไม่ได้ ต้องมีพี่เลี้ยงคอยดูแลเฉพาะ ซึ่งโรงเรียนบ้านบางกลาง จ.ระนอง เป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ต้องรู้จักสังเกตอาการบ่งชี้ว่าลูกเป็นออทิสติกได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือตั้งแต่ขวบปีแรกจะดีมาก แต่ที่ผ่านมาพบตอนอายุ 5 ขวบ 10 ขวบ จึงอยากให้เข้าใจว่าเด็กออทิสติกมีอาการที่แตกต่างกัน หากพบแพทย์เร็วก็จะรักษาหายได้ ทั้งนี้ แบ่งอาการเป็น 3 ระดับ คือ ระดับน้อย สามารถรักษาหายได้ ระดับปานกลาง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และระดับรุนแรง เป็นระดับอาการที่ต้องมีคนดูแล หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตเป็นคนป่วยด้านจิตเวชพบเกือบ 100% ซึ่งการรักษาจะเน้นการปรับพฤติกรรมผ่านการเล่น การสอนที่เน้นให้อยู่ในสังคมได้ รวมไปถึงการให้ยาในบางกรณีที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้
วิธีสังเกตอาการกลุ่มเด็กออทิสติกในขวบปีแรก คือ เด็กดูดนมได้ไม่ดี เงียบเฉยเกินไป ไม่สนใจให้ใครกอด ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก ไม่สนใจใคร หรืออาจติดคนมากผิดปกติ ไม่สบตา ไม่สนใจที่จะให้ใครอุ้ม ไม่ตอบสนองทางด้านอารมณ์ไม่ลอกเลียนแบบ ไม่ส่งเสียง ไม่อ้อแอ้ ชี้นิ้วไม่เป็น เรียกให้คนอื่นเล่นด้วยไม่เป็น ท่าทางเฉยเมยไร้อารมณ์ ไม่แสดงอาการดีใจให้เห็น ผูกพันกับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ถ้าดึงออกจะกรีดร้องอยู่นาน และปัจจัยสำคัญผู้เลี้ยงจะต้องรู้สึกได้ว่าเด็กแตกต่างจากคนอื่น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลเด็กกลุ่มนี้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ทั้งการดูแลรักษา การให้สิทธิด้านยาในรายที่จำเป็นต้องใช้ คือ ยาริสเพอริโดน (Risperidone) แต่การดูแลเด็กกลุ่มนี้ต้องมีการเอาใจใส่เป็นพิเศษ และต้องทำงานอย่างรอบด้าน ทั้งจิตแพทย์ พยาบาล พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ โดยเฉพาะโรงเรียนต้องเข้าใจพวกเขา จึงมีความคิดว่าจะตั้งเป็นกองทุนดูแลเด็กพิเศษ แต่ต้องหารือทุกฝ่ายก่อน
พ่อแม่ต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรมขวบปีแรกของลูกน้อยให้ได้....
--มติชน ฉบับวันที่ 16 ก.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 140 views