อดีตเราจะรู้เพียงว่าเด็กที่เกิดมาในกลุ่มออทิสซึม พัฒนาการล่าช้า/สติปัญญาบกพร่อง และพิการซ้ำซ้อน อาจมีสาเหตุมาจากโครโมโซมที่ผิดปกติของพ่อแม่ แม้สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ แต่ไม่สามารถเจาะลึกลงไปว่า โครโมโซมคู่นั้นมีความผิดปกติอย่างไร ปัจจุบัน รพ.รามาธิบดี สามารถพัฒนาวิธีตรวจโครโมโซมด้วยวิธี โครโมโซมอะเรย์ (Coromosomal Microarray: CMA) วิธีการตรวจโครโมโซมที่มีความละเอียดสูงได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
พญ.ณฐินี จินาวัฒน์
พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโครโมโซมอะเรย์ คณะแพทยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิธีการตรวจโครโมโซมอะเรย์ ที่นำมาใช้เป็นการศึกษาชนิด “สนิปอะเรย์” (SNP aray) ซึ่งมีความละเอียดสูง สามารถตรวจหาลักษณะพันธุกรรม คือการหลุดหายหรือเกินขึ้นมาของตำแหน่งต่างๆ บนโครโมโซมทั้งหมดของผู้ป่วย ซึ่งมีขนาดเล็กได้
วิธีการตรวจนี้มีความละเอียดกว่าการตรวจโครโมโซมแบบดั้งเดิม ที่ใช้ตาดูผ่านกล้องจุลทรรศน์มากกว่า 1,000 เท่า โดยกระบวนการตรวจวินิจฉัยวิธีโครโมโซมอะเรย์ความละเอียดสูง ประกอบด้วยขั้นตอนทางห้องปฏิบัติการและขั้นตอนการวิเคราะห์ผลโดยใช้ความรู้ทางชีวสารสนเทศ
กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการที่ล่าช้า สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มอาการออทิศซึม เด็ก 68 ราย พบได้ 1 คน
2.กลุ่มที่มีสติปัญญาบกพร่อง เด็ก 2 ราย พบได้ 1 ราย
และ 3.กลุ่มเด็กที่มีความพิการซ้ำซ้อนแต่กำเนิด พบได้ร้อยละ 3 ของเด็กแรกเกิด
สำหรับอาการของกลุ่มออทิสซึมที่สังเกตได้ยากกว่ากลุ่มอื่นมีอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง สิ่งที่สังเกตได้คือ พัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าร่วมกับบกพร่องในการเข้าสังคม เด็กไม่ชอบเข้าสังคม ชอบเล่นคนเดียว ไม่สบตา ไม่หันหาเสียงที่เรียกชื่อ ไม่ชี้บอกความต้องการ ร่วมกับมีความผิดปกติทางพฤติกรรม ได้แก่ มีพฤติกรรมซ้ำๆ มีความสนใจยึดติดเฉพาะบางเรื่อง
พญ.ณฐินี กล่าวว่า การแปลผลจะต้องอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมขนาดใหญ่ที่รวบรวมลักษณะพันธุกรรมของคนปกติจำนวนมากกว่า 10,000 คน ร่วมกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วยกลุ่มอาการออทิสซึม พัฒนาการล่าช้า/สติปัญญาบกพร่อง และพิการซ้ำซ้อนแต่กำเนิด จำนวนมากว่า 10,000 คน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับลักษณะพันธุกรรมที่พบในผู้ป่วย ที่ผ่านมาข้อมูลส่วนมากเป็นของผู้ป่วยผิวขาวเป็นหลัก จึงอาจไม่ใช่ตัวเปรียบเทียบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทย ทางเราจึงได้พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เป็นข้อมูลเฉพาะของคนไทยขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อการวิจัยแบบบูรณาการ(ICBS) มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อช่วยในการแปลผลให้มีความถูกต้องแม่ยำที่สุด
นอกจากนี้เรายังเน้นการตรวจหาลักษณะพันธุกรรมในพ่อแม่เพิ่มเติม ในกรณีที่ตรวจพบลักษณะพันธุกรรมที่ยังสรุปไม่ได้แน่นอนว่าเป็นสาเหตุหรือไม่(VUS) ในผู้ป่วย เพื่อช่วยในการแปลผลและวิเคราะห์แบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพื่อสามารถให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม เพื่อป้องกันการเกิดผู้ป่วยใหม่ในครอบครัวได้ถูกต้องแม่นยำ
ทั้งนี้ลักษณะพันธุกรรมที่ตรวจพบจากโครโมโซมอะเรย์ สามารถแบ่งได้ 3 ชนิดดังนี้
1.ผลปกติ (Benign) คือ ไม่พบลักษณะทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมอื่นๆ ที่โครโมโซมอะเรย์ไม่ครอบคลุม เช่น การกลายพันธุ์ของยีน หรือสาเหตุอาจไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม
2.ผลผิดปกติ (Pathogenic) คือ พบลักษณะทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยโรค
3.พบลักษณะพันธุกรรมที่ยังสรุปไม่ได้แน่นอนว่าเป็นสาเหตุหรือไม่ (VUS)
“โครโมโซมแต่ละคู่ของมนุษย์ สามารถพยากรณ์การเกิดโรคได้ จากการตรวจด้วยวิธีโครโมโซมอะเรย์ พบว่า 15-20%ของผู้ป่วยมีความผิดปกติของปริมาณสารพันธุกรรมขาดหรือเกิน ขณะที่การตรวจโครโมโซมแบบมาตรฐานสามารถตรวจพบได้เพียง 3% ของกลุ่มผู้ป่วย”
พญ.ณฐินี กล่าวว่า ข้อดีของวิธีการตรวจโครโมโซมอะเรย์ เราสามารถมองเห็นความผิดปกติของโครโมโซมได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถทำให้แพทย์สามารถสางแนวทางการรักษาผู้ป่วยรวมกับครอบครัวได้ และสามารถให้คำปรึกษาเพื่อวางแนวทางการมีบุตรคนต่อไปได้ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการตรวจประมาณ 40,000 บาท ในต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท ใช้เวลารับผลการตรวจ 1 คนต่อ 3 วัน หากมีการตรวจพ่อแม่ผู้ป่วยด้วย ผลจะได้รับภายในเวลา 8 สัปดาห์
ประโยชน์ที่ได้รับ หากพบสาเหตุความผิดปกติจากการตรวจโครโมโซมอะเรย์
ลดค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงในการตรวจอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
การได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค ช่วยในการวางแผนการรักษาและติดตามผู้ป่วย บอกการพยากรณ์โรคในระยะยาวและในบางกรณีอาจมีการรักษาจำเพาะที่ได้ผลดีอีกด้วย
มีข้อมูลเพื่อให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม รวมทั้งประเมินความเสี่ยงของการมีบุตรคนถัดไป หรือลูกหลานเป็นโรคเดิมซ้ำอีก และสามารถแนะนำการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้อย่างแม่นย
“อยากให้หญิงตั้งครรภ์หรือสามีที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีพี่น้องที่มีกลุ่มอาการดังที่กล่าวมา หรือมีลูกคนแรกที่เป็นควรได้รับการตรวจด้วยวิธีโครโมโซมอะเรย์ ซึ่งอาจจะยังมีราคาที่สูง แต่หากประชาชนให้ความสนใจ มีการตรวจมากขึ้นราคาก็อาจจะลดลงไปได้ ขณะเดียวกันหากมีราคาถูกลง ประชาชนเห็นประโยชน์ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพูดคุยกับสำหนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ เพื่อให้การตรวจโครโมโซมอะเรย์ได้รับการบรรจุลงในสิทธิประโยชน์ของหญิงตั้งครรภ์ได้ในอนาคต” พญ.ณฐินี กล่าว
- 636 views