หมอห่วง “มะเร็ง” คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “รพ.รามาฯ” จับมือ “สถาบันมะเร็งฯ” ลุยเก็บเลือด-เนื้อเยื่อมะเร็ง หาการรักษามุ่งเป้า พร้อมเป็นถังข้อมูลมะเร็งเฉพาะคนไทย นำสู่การตรวจ-รักษาตรงจุด ยืนยันต้องขออนุญาตก่อน ไม่มีการเลี้ยงไข้เพื่อเก็บตัวอย่าง
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์มะเร็งรามาธิบดี ผศ.ดร.พญ.ณฐินี จินาวัฒน์ ประธานหลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต และหัวหน้าธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ได้ร่วมกันแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้เป็นการนำความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 หน่วยงาน มาช่วยกันเก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาตรวจหาดีเอ็นเอ (DNA) ลักษณะการดำเนินโรค การเกิดโรค การตอบสนองต่อยารักษา และวิธีรักษา ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดมากที่สุด เป็นประโยชน์สำหรับตัวคนไข้ที่เป็นเจ้าของเลือดหรือเนื้อเยื่อ ๆ นั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมเอาไว้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อการศึกษาวิจัยหาโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในจำนวนโรคมะเร็งที่มีจำนวนมากนั้น บางชนิดก็พบได้น้อยในชาติตะวันตก แต่พบมากในไทย อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งที่ศีรษะและลำคอ ดังนั้นเราต้องมีการศึกษาโรคที่มีการพบในคนไทย
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า การเก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งต้องมีการเอามาแช่แข็งในอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียส ซึ่งที่จริง รพ.รามาธิบดี ดำเนินการเรื่องนี้มาได้ 5 ปี แล้ว สามารถเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งได้กว่า 2,000 ตัวอย่าง โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มมะเร็งเต้านมประมาณ ร้อยละ 15 มะเร็งลำไส้ประมาณ 10 มะเร็งปอด ร้อยละ 10 และที่เหลือเป็นมะเร็งชนิดอื่น ๆ ล่าสุดได้มีการสร้างสถานที่เก็บเลือดและเนื้อเยื่อมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น จึงได้ร่วมมือกับสถาบันมะเร็งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ในภาคใหญ่ขึ้น เป็นประโยชน์ในการวางแผนตรวจวิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาโรคได้ รวมถึงการพัฒนายารักษาที่ตรงจุดได้ในอนาคต และตอนนี้ กำลังเล็งศึกษาโรคมะเร็งจอประสาทตา ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบมากในเด็ก และพบมากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้าน ผศ.ดร.พญ.ณฐินี กล่าวว่า ในการเก็บเนื้อเยื่อมะเร็งนั้น จะเก็บได้ก็ต่อเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถทำได้ แต่ยืนยันว่าก่อนจะมีการเก็บต้องแจ้งให้กับผู้ป่วยทราบว่าจะเก็บอะไร เอาไปทำอะไร และต้องได้รับการยินยอม ทั้งนี้จะยึดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ให้มีผลกระทบกับการรักษา ขอยืนยันว่าไม่มีการเลี้ยงไข้เพื่อให้ขนาดมะเร็งโตพอที่เก็บเนื้อเยื่อได้เด็ดขาด ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาตามโปรแกรมการรักษาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2541 และยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 122,757 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปราว ๆ 73,000 คน อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้สามารถตรวจรักษาโรคมะเร็งได้อย่างแม่นยำขึ้น สามารถรักษาให้หาย และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงมุ่งเน้นเรื่องการราด้วยการแพทย์แม่นยำมากขึ้น มีการตรวจเซลล์มะเร็งกันมากขึ้น ในส่วนของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามเต็มที่ที่จะพัฒนาในจุดนี้เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการรักษาดังกล่าวมากขึ้นด้วย ดังนั้นตนจึงเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้ครอบคลุมการรักษาแบบจำเพาะได้กับมะเร็งทุกชนิดในอนาคต
- 506 views