อย.ยันยังไม่มีนโยบายถอดยารักษากลุ่มออทิสติกทุกกลุ่มออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะยาริสเพอร์ริโดน (Risperidone) ซึ่งมีทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ดเป็นรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน ขอผู้ปกครองอย่าวิตก
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีสมาคมพ่อแม่เด็กที่เป็นออทิสติกยื่นคัดค้านการถอดยาชนิดน้ำออกจากบัญชียาหลักและให้หันมาใช้ชนิดเม็ดที่ผลิตได้เองในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า โรคออทิสติกถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกาย ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการหลายด้าน การรักษาต้องเสริมสร้างพัฒนาการและเข้าโปรแกรมฝึกพฤติกรรม เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งรับประทานยาในการฟื้นฟูศักยภาพและเตรียมความพร้อมต่อการดำรงชีวิตอย่างอิสระ
สำหรับยารักษาโรคออทิสติก (Autistic disorder) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีด้วยกันหลายกลุ่ม ได้แก่ ยากลุ่ม Antipsychotic เช่น HaloperidolRisperidone, ยากลุ่ม Antidepressant ในกลุ่ม Selective serotonin-reuptake inhibitors (SSRIs) เช่น Fluoxetine และ ยากลุ่ม Central nervous system stimulants เช่น Methylphenidate ซึ่งยารักษาโรคดังกล่าวทุกชนิด โดยเฉพาะยาที่มีชื่อว่า ริสเพอร์ริโดน (Risperidone) มีทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด (ไม่รวมชนิดละลายในปาก) เป็นรายการยาที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชีย่อย ค. อยู่แล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และ อย.ยังไม่มีนโยบายถอดยารักษาดังกล่าวออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติแต่อย่างใด ขอผู้ปกครองคลายความวิตกกังวล
รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคออทิสติก (Autistic disorder) นอกจากจะต้องเข้าโปรแกรมการฝึกพฤติกรรมแล้ว ยังต้องใช้ยาควบคู่กันไปด้วย ซึ่งยาที่ใช้ในเด็กและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ควรใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ต้องผ่านการวินิจฉัยอาการของโรคและการรักษาเบื้องต้นก่อนโดยจิตแพทย์ เพราะยาแต่ละชนิดใช้ในการรักษาโรคไม่เหมือนกัน ซึ่งชนิดน้ำใช้กับเด็กหรือผู้ที่ไม่สามารถกินยาเม็ดได้ หากพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับการใช้ยา ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่เด็ก ควรสังเกตพฤติกรรมตลอดจนพัฒนาการของเด็กอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แรกเกิด เมื่อพบความผิดปกติควรรีบนำเด็กไปพบแพทย์และวินิจฉัยโรคทันที
- 511 views