กลุ่มแพทย์ชนบทเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองถอดคำสั่งชี้ละเมิดสิทธิ์กระทรวงสาธารณสุขส่งจดหมายถึงต้นสังกัดห้ามแพทย์-บุคคลากรห้ามลา 5-7 มิถุนายน สกัดหมอชนบท "บุกบ้านนายกฯ"ลั่นจากนี้จะเข้มงวดการลามากขึ้น ด้าน "หมอเกรียงศักดิ์" เล็งฟ้องศาลปกครอง ถอดคำสั่งห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เขตสุขภาพที่ 7 เดินทางไปราชการในกทม.-ปริมณฑล
จากกรณีชมรมแพทย์ชนบท-สหภาพองค์การเภสัชกรรม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ประกาศ นัดชุมนุมหน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ เพื่อเรียกร้องให้เข้ามารับฟังปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี และปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์การเภสัชกรรม รวมถึงการไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 3-4 พันคน
ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือด่วนที่สุดห้ามมิให้ จนท.สาธารณสุขลากิจ ลาป่วยพักร้อนทุกประเภท และห้ามเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ระหว่าง 5-7 มิ.ย. 2556 นั้น นพ.อภิชัย มงคล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เปิดเผยว่า เนื่องจากอาจมีสถานการณ์ไม่ปกติเกิด ขึ้นในวันที่ 6 มิ.ย.2556 รอบบริเวณบ้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากการประท้วงต่าง ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงมีคำสั่งโดยทำหนังสือบันทึกข้อความที่ สธ 0204.07/763 ลงวันที่ 28 พ.ค.2556 เรื่องไม่อนุมัติให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในเขตสุขภาพที่ 7 ในพื้นที่จังหวัด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคามและร้อยเอ็ด เดินทางไปราชการในกทม.และปริมณฑล และลาประเภทต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 5 - 7 มิ.ย.2556 และส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ผู้อำนวยการศูนย์/ทั่วไป ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน ผู้บริหารและผู้มีอำนาจ อนุญาตหรืออนุมัติการไปราชการ การลาทุกประเภท
นอกจากนี้ สธ.ยังได้สั่งเลื่อนการประชุมต่าง ๆ ของสธ. ระหว่าง 5-7 มิ.ย.2556 ออกไปโดยไม่มีกำหนด และสั่งการให้ผู้บริหารทุกท่านที่มีอำนาจอนุญาตหรืออนุมัติไปราชการทุกกรณี รวมทั้งลากิจ ลาป่วย และลาพักร้อน ไม่อนุญาตในกรณีที่เกี่ยวข้องดังกล่าวทั้งหมด แต่หากว่าในกรณีที่จำเป็นฉุกเฉิน และให้ผู้มีอำนาจลงนามจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป และใช้ความเคร่งครัดตามระเบียบราชการและกฎหมายอย่างถึงที่สุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เกี่ยวข้องทุกท่าน อีกทั้งยังห้ามมิให้ข้าราชการสธ. สนับสนุนหรือชักนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในเขต 7 ไปกทม. และปริมณฑล ในช่วงวันดังกล่าว "จากนี้ไปเราจะเข้มงวดมากขึ้นในการลาไปราชการหรือลากรณีต่าง ๆ จากเดิมเราอะลุ่มอล่วยมาก และบางคนขอลาแล้วไม่ได้ไปราชการจริง สธ.จึงอยากให้มีความชัดเจนว่าหากลาไปราชการ จะต้องชัดเจนว่าไปราชการอะไรหรือจะไปทำอะไร แล้วก็ต้องไปราชการจริง ๆ แต่ในช่วงวันที่ 5-7 มิ.ย.ที่จะถึงนี้กระทรวงได้เลื่อนการประชุมในกรุงเทพออกไป ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลาไปราชการในช่วงนี้ ส่วนการลาประเภทอื่นๆ ก็เป็นดุลพินิจของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในแต่ละพื้นที่หรือผู้บริหารในแต่ละแห่ง ส่วนการลาของ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ถือเป็นดุลยพินิจของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นที่จะพิจารณาอนุมัติ" นพ.อภิชัยกล่าว
ปลัดห่วงพาผู้ป่วยมาร่วมชุมนุม
ด้าน นพ.คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือลากิจของ นพ.เกรียงศักดิ์ รวมทั้ง ผอ.รพ.อื่น ๆ หากจะลาเพื่อไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ก็คงไม่อนุญาตหรือถ้าจะลาพักร้อนแล้วไปโผล่บ้านนายกรัฐมนตรี ก็อาจเข้าข่ายรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและอาจถูกลงโทษทางวินัยได้ การลามีสิทธิ์ทำได้แต่ต้องสมเหตุสมผลและปฏิบัติตามที่ลาจริง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ประชุมสำนักงานปลัดสธ.ห่วงใยต่อเหตุการณ์การชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 มิ.ย. นี้ โดยเฉพาะประเด็นที่จะพาผู้ป่วยไปชุมนุม ซึ่งสธ.ไม่เห็นด้วย เพราะในแง่จรรยาวิชาชีพถือว่าไม่เหมาะสม อีกทั้งเป็นห่วงผู้ป่วย ห่วงภาพลักษณ์วิชาชีพแพทย์จึงได้กำชับผู้ตรวจราชการไปสื่อสารทำความเข้าใจกับบุคลากรในพื้นที่ หากมีอะไรไม่เหมาะสมให้ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกันป้องกัน เพราะหากคนไข้เดินทางมาชุมนุมแล้วเสียชีวิตจะทำให้เกิดความเสียหาย
เล็งฟ้องศาลปกครองถอนคำสั่ง
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทราบว่าหนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งไปทั่วประเทศ ส่งให้แค่เขตสุขภาพที่ 7 เท่านั้น ส่วนตัวมองว่าการจำกัดสิทธิการลางาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 63 และ 64 ดังนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารยื่นต่อศาลปกครอง จ.ขอนแก่น เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิในการลา และการเดินทางได้ทั่วราชอาณาจักร พร้อมทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ สธ.ถอน คำสั่ง สำหรับกรณีที่มีการประกาศให้บ้านนายกฯเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษหลังเกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบริเวณปากซอยรามคำแหง 43/1 เมื่อวานนี้ได้หารือกับทางตำรวจสันติบาล และตำรวจนครบาลเรียบร้อยแล้วได้รับอนุญาตให้สามารถชุมนุมได้ เนื่องจากเราแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ได้เป็นม็อบการเมือง แต่เป็นม็อบปัญญาชน อีกทั้งการชุมนุมที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าปราศจากความรุนแรง และตำรวจยังได้สนับสนุนรถสุขา 4 คัน
ด้านนพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งเคยประกาศอาสาเป็นทัพหน้านำ จนท.และรถพยาบาลของ รพ.ชุมชนในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ากรุงเทพฯเปิด รพ.สนามบริการประชาชนหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นการสั่งการที่ขาดธรรมมาภิบาล ใช้อำนาจ เพราะสิ่งที่แพทย์และ จนท.เคลื่อนไหวก็เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขในชนบท เพื่อคนยากจนในพื้นที่ และการเข้ากรุงเทพฯ ก็เพื่อขอให้ท่านนายกฯเข้าใจและแก้ไขปัญหา ย้ายคนที่สร้างปัญหาออกไปจากสธ. ไม่มีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องรับคำสั่งข่มขู่ ลิดรอนสิทธิ
สหภาพอภ.ดึงประปา-ไฟฟ้าร่วม
นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับกลุ่มสหภาพฯการประปา และไฟฟ้า โดยจะเดินทางไปร่วมกันชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันจะมีการแจกสมุดปกขาว ซึ่งสหภาพ อภ. ได้จัดทำไว้เพื่อแจกจ่ายให้สาธารณะได้ทราบข้อเท็จจริงว่า อภ.ไม่ได้สร้างความเสียหายในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ โดย สมุดปกขาวมี 2 เล่ม เล่มแรก เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณียาพาราเซตามอล และโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก เล่มที่สอง เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ รวมไปถึงกรณียาหัวใจโคลพิโดเกรล และยาไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกโอเซลทามิเวียร์ ที่มีข่าวว่าใกล้หมดอายุ ซึ่งทั้งหมดได้ชี้แจงอย่างละเอียดอยู่ในสมุดปกขาวทั้งหมด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
- 19 views