แพทย์ชนบทแฉบริษัทยากดดัน "หมอวิทิต" ภายหลังทำสิทธิเหนือสิทธิบัตร กพย.ระบุสถานการณ์เอื้อเอกชน
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และแกนนำชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่าทราบมาว่าบริษัทยาเอกชนข้ามชาติจำนวนมากร่วมกันกดดันเพื่อปลดนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)เนื่องจากสร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมยาข้ามชาติอย่างหนัก ภายหลังได้ทำสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และจัดทำนโยบายผลิตยาราคาถูก โดยให้ อภ.ควบคุมกลไกตลาด ส่งผลให้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายรายการมีราคาถูกลง ทำให้บริษัทเอกชนสูญเสียรายได้มหาศาล
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลรัฐบาลทั่วประเทศ จัดซื้อยาจาก อภ.เป็นอันดับแรก เนื่องจากยาของอภ.มีราคาถูกกว่าบริษัทยาเอกชน
อย่างไรก็ตาม ข่าวเสียหายที่เกี่ยวข้องกับ อภ.อาจทำให้หน่วยบริการและโรงพยาบาลจำนวนมากหันไปจัดซื้อยาจากบริษัทยาเอกชนแทน ซึ่งจะสร้างกำไรให้กับบริษัทเหล่านี้มหาศาล และกลายเป็นภาระให้กับผู้บริหาร อภ.คนต่อไปอย่างมาก
นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธาน อภ. กล่าวว่า 2 สาเหตุหลักในการปลด นพ.วิทิต ได้แก่ กรณีเงิน 75 ล้าน ซึ่งเป็นส่วนลดที่ อภ.จะต้องจ่ายให้กับผู้ที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องได้รับเงินจำนวนนี้ แต่ฝ่ายการเมืองได้ใช้อำนาจแทรกแซงให้ อภ.หยุดจ่ายเงินให้สปสช. และให้จ่ายเงินตรงถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แทน
สำหรับสาเหตุที่ 2 คือ นพ.วิทิต ไม่ยอมส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลที่มีปัญหากลับไปยังบริษัทผู้ผลิตในประเทศจีนเนื่องจากนพ.วิทิต เห็นว่าผิดสัญญาที่ลงนามไว้ว่าจะส่งคืนต่อเมื่อพบปัญหาจากวัตถุดิบปนเปื้อนทั้งหมดเท่านั้น ขณะเดียวกันกระบวนการตรวจสอบของ อภ.ไม่พบปัญหา แต่ฝ่ายการเมืองกลับบังคับให้ส่งคืนทันทีหลังมีข่าววัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีการเมืองแทรกแซงและบอร์ด อภ.มีวิจารณญาณ จะสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีธง โดยในบอร์ดอภ.ประกอบด้วยทั้งข้าราชการ ข้าราชการเกษียณ บุคคลภายนอก ซึ่งทุกคนมีดุลยพินิจว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร
ทั้งนี้ บอร์ด อภ.เมื่อวันที่17 พ.ค. มีมติปลด นพ.วิทิต เนื่องจากผิดสัญญาจ้าง
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556
- 3 views