ถามชาวบ้านว่า ป่วยฉุกเฉินคืออะไร คำตอบที่ได้อาจไม่ตรงกับคำตอบของหมอ เช่น เล็บขบมา 3 วัน จนกลัดหนองปวดระบมขนาดนอนไม่ได้ อย่างนี้ชาวบ้านว่า ฉุกเฉิน ตกเลือดจนแทบเป็นลม ก็ว่าฉุกเฉิน แขนขาอ่อนแรง ชาวบ้านอาจไม่รู้สึกว่าฉุกเฉิน แต่ภาษาหมอว่า ฉุกเฉิน เพราะถ้าเป็นจากหลอดเลือดสมองอุดตันภายใน 3 ชั่วโมงแรก อาจเยียวยาให้กลับไปเหมือนเดิมได้ ไม่พิการหรือถึงตาย
จะเห็นว่าแค่ความหมายของ ป่วยฉุกเฉิน ก็เป็นปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่
คนไข้ปวดท้องทุรนทุราย ไปห้องฉุกเฉิน อาจลงเอยด้วยยาแก้ปวดท้อง แล้วกลับบ้านได้ หรือนอนไอซียู หรือ สวนหลอดเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารทะลุ นี่ก็เป็นปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่ทั้งหมอ และคนไข้ เพราะโรคหลายชนิดมีอาการบางชนิดคล้ายๆ กัน จึงต้องมีการสืบสวนหาสาเหตุ จึงต้องการความรู้และทักษะอย่างมาก หลายกรณีจึงต้องการเทคโนโลยีซับซ้อน เกินกว่าที่...แม้แต่หมอจบใหม่ก็ยังมีไม่เพียงพอ รพ.แต่ละแห่งก็อาจมีไม่เพียงพอ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของราคาแพง ควรมีแต่พอดี พอเป็นไปได้ ไม่ใช่มีทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเป็นไปได้ยากด้วยเงินทองอันจำกัดของประเทศ ไม่ว่าที่ใดในโลก
นี่ก็เป็นอีกมิติของปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่ ลักษณะบริการผู้ป่วยฉุกเฉินที่กล่าวมานี้ จึงเข้าข่าย แดนที่เสมือนมีบางสิ่งบางอย่างที่ลึกลับและมีปัญหาสลับซับซ้อนแอบแฝงให้น่าสงสัยอยู่มาก...เรียกว่า "แดนสนธยา"
อย่าเพิ่งหดหู่ใจนะครับ ถ้ามองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน จะพบว่า สภาวะแดนสนธยาของบริการผู้ป่วยฉุกเฉินค่อยๆ ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น
....อดีต แม้แต่หมอด้วยกันก็ไม่มีเกณฑ์พิจารณาว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินมีระดับความรุนแรงเร่งด่วนต่างกัน จำเป็นต้องให้การดูแลเร่งด่วนต่างกัน ในอดีตหมอจึงมักพลาดการวินิจฉัยและแก้ไขภาวะฉุกเฉินให้ทันการณ์ คนไข้ที่ไม่สมควรตายก็เลยตาย ไม่สมควรพิการเลยพิการมากกว่าปัจจุบัน
....อดีต รพ.เกือบทุกแห่ง อาศัยหมอจบใหม่เฝ้าห้องฉุกเฉิน ถ้าเหลือกำลังค่อยตามหมอใหญ่ (ก็หมอมีจำนวนน้อยนะครับ และหมอก็ต้องพักผ่อนเหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ...เงินค่าอยู่เวรทดแทนการพักผ่อนไม่ได้นะครับ) คนไข้ที่ไม่สมควรตายก็เลยตาย ไม่สมควรพิการเลยพิการมากกว่าปัจจุบัน
ปัจจุบันประเทศไทยผลิตหมอมากขึ้นถึงปีละ 2,600 คน ผู้รู้คาดว่า อีก 3 ปี จำนวนหมอไทยที่กำลังทำงานจะมีมากถึง 40,000 คน และอีก 15 ปี จะถึง 60,000 คน ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินคือ ห้องฉุกเฉินมีหมอสาขาใหม่ประจำเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรียกหมอสาขานี้ว่า แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งเชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน และการจัดระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะ นั่นคือ ไม่ได้มีแต่ความเก่งเฉพาะตัว แต่ยังสามารถวางระบบให้หมอใหม่ พยาบาลและพนักงานกู้ชีพเก่งมากขึ้นด้วย สามารถประสานงานให้หมอเฉพาะทางสาขาอื่นๆ รับดูแลผู้ป่วยที่พ้นภาวะวิกฤติให้รอดชีวิตหรือลดโอกาสพิการได้ราบรื่น
"สงสารคนไข้ค่ะ บาดเจ็บหลายอวัยวะ ตามหมอผ่าตัดกระดูกมาดูแล้วก็บอกว่ารอได้ ตามหมอผ่าสมองมาดูบอกว่าเฝ้าดูอาการไปก่อน หมอผ่าช่องท้องบอกว่า ยังไม่แน่ชัดว่ามีบาดเจ็บช่องท้อง สรุปแล้วผ่านไปหนึ่งคืนยังหาเจ้าของไข้ไม่ได้เลย ญาติทนรอไม่ไหวขอย้ายคนไข้ไป รพ.เอกชน....ตอนหมออีพี (แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน) ยังอยู่ปัญหาอย่างนี้มีน้อย
"พยาบาลห้องฉุกเฉิน รพ.แห่งหนึ่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังประกาศนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน" ตั้งแต่ เม.ย.2555
เพราะใส่ใจคิดค้นพัฒนางานตลอดเวลา วันนี้คนไข้หัวใจขาดเลือดไม่เพียงได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทันเวลามากขึ้นทุกที ที่ รพ.ลำปาง แม้แต่ รพ.อำเภอ 3 แห่ง ในลำปางก็มีความพร้อมให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่คนไข้ชนิดนี้ นับเป็นตัวอย่างผลงานของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและทีมงานในการพัฒนาเครือข่ายบริการให้ทันสมัยถ้วนหน้าและได้คุณภาพ
สำหรับ รพ.ของรัฐ โดยเฉพาะ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ยังประสบปัญหาการดึงดูดและธำรงรักษาแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินให้อยู่นานๆ เนื่องจาก รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีความคล่องตัวทางการเงินน้อยกว่า รพ.เอกชน และ รพ.โรงเรียนแพทย์ ในตลาดแรงงานสาขานี้ (รวมพยาบาลและบุคลากรอีกบางสาขาด้วย) รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ
"ผมอยู่มา 5 ปี รับค่าเวร 1,800 บาทเท่าหมอจบใหม่ ถ้าอยู่ รพ.โรงเรียนแพทย์ ผมจะได้ 4000 บาท ทางบ้านหวังพึ่ง (รายได้) ทำให้ผมคงทนอยู่อีกได้ไม่เกิน 2 ปี..." คำกล่าวของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.จังหวัดแห่งหนึ่ง แม้ว่านโยบาย P4P มีผลแล้ว โปรดสังเกตว่า รพ.เอกชนและ รพ.โรงเรียนแพทย์อยู่นอกขอบข่ายนโยบายนี้
จึงเห็นได้ว่าความไม่เท่าเทียมระหว่างสถานพยาบาลต่างสังกัด ก็กระทบต่อความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและได้รับบริการระหว่างคนไข้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่างกัน การเพิ่มจำนวนหมอหรือบุคลากรสาขาอื่นเพียงอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอต่อการสร้างหลักประกันความเท่าเทียม
ผู้เขียนตระหนักดีว่า ความคลี่คลายในแดนสนธยาดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นโดยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินตามลำพัง เพียงแต่บทความนี้ต้องการมุ่งเน้นบทบาทของแพทย์สาขานี้ให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่า แพทย์สาขานี้เป็นตัวแปรสำคัญในสมการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน มิฉะนั้น รพ.เอกชนก็คงเมินที่จะดึงดูดตัวอย่างต่อเนื่องนับแต่รุ่นแรกที่เริ่มการผลิตจำนวนไม่น้อยใช้วิธีตกเขียวเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นที่ต้องการของผู้ป่วยนั่นเอง
ผู้เขียน : ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 19 พฤษภาคม 2556
- 52 views