วันนี้(28 เมษายน 2556) นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำลังคนได้เชิญ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุวัฒน์ กิตติดิลกกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน(สนย.) สธ. มาชี้แจงถึงนโยบายการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบผสมผสานระหว่างการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และการจ่ายตามแบบภาระงาน (P4P) โดยคณะกรรมการได้มีมติร่วมแสดงความวิตกปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากนโยบาย P4P จะทำให้กำลังคนด้านสาธารณสุขในชนบทเสียหายอย่างแน่นอน ฉะนั้นขอให้กระทรวงสาธารณสุขรีบแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

“การจ่ายตามภาระงาน (P4P) ไม่สามารถใช้ทดแทนการให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน คณะกรรมการฯกังวลอย่างมากว่า กำลังคนด้านสุขภาพที่ทำงานในชนบทที่ปัจจุบันมีปัญหาความขาดแคลนอยู่บ้าง จะวิกฤตยิ่งขึ้น คนจะหนีจากชนบทมากยิ่งขึ้น เมื่อขาดการสนับสนุน ไปอยู่ที่สบายกว่า โดยเฉพาะกำลังคนทางด้านการแพทย์ จะยิ่งขาดแคลน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการดูแลสุขภาพของประชาชนในชนบท จึงมีความเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรทำให้ปัญหานี้ยุติโดยเร็ว”

ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพกล่าวว่า โดยส่วนตัวอยากให้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีสาธารณสุขปรับลดนโยบายโดยใช้กับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปที่สภาพการทำงานเหมาะกับ P4P มากกว่า ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนนั้น ขอให้ถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดย P4P เป็นลักษณะเพิ่มเติม (on top) จากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เชื่อว่าเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ คนเริ่มเห็นข้อดีอาจจะทำให้โรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดเข้าร่วมโครงการได้ในอนาคตก็เป็นได้

“อยากให้คุณหมอประดิษฐประกาศให้ชัดไปเลยว่า จะไม่มีเฟส 2 เฟส 3 เพราะเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายยังต้องคงอยู่ วัตถุประสงค์ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคือการสนับสนุนให้กำลังคนด้านสุขภาพอยู่ในพื้นที่ทำงานเพื่อชาวชนบท จะมาใช้ P4P ทดแทนกันไม่ได้ แต่อาจปรับให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นในส่วนของวิชาชีพต่างๆ”

รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สุพรรณ รองปลัด สธ. และนพ.สุวัฒน์ ผอ.สนย.รายงานต่อคณะกรรมการกำลังคนฯว่า นโยบาย P4P ทำโดยข้อมูลพื้นฐานวิชาการ และความปรารถนาดี อาจจะทำเร็วเกินไป ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จึงเกิดปัญหา ซึ่ง นพ.สุวัฒน์กล่าวว่า รู้สึกเสียใจ ตั้งใจเพื่อให้เกิดการพัฒนา

ขณะที่ นพ.สุพรรณ กล่าวว่า รู้ว่าจะเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่กล้าทำก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ยืนยันว่าทำบนหลักการที่ดีที่มีงานวิชาการสนับสนุน อาจเป็นปัญหาเชิงรายละเอียดที่ต้องปรับปรุงไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกกรรมการกำลังคนฯบางคน แย้งว่า หากเป็นหลักการที่ดี ไม่น่าจะมีเสียงคัดค้านจนกลายเป็นปัญหาสังคมขนาดนี้ นอจากนี้ งานวิชาการที่ทางผู้บริหารกระทรวงฯอ้างถึง โดยเฉพาะของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (IHPP) ชี้ว่า ก่อให้เกิดผลลบในเรื่องคุณภาพ เพราะไม่มีการศึกษาใดๆแสดงว่า จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีขึ้น อีกทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายก็ชัดเจนว่า การทำ P4P ควรใช้ในบางสถานการณ์บางโอกาสเท่านั้น เมื่อเกิดความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในด้านกำลังคนแล้วก็ควรต้องยกเลิกการใช้ P4P แต่เหตุใดกระทรวง สธ.จึงมีนโยบายจะใช้โดยทั่วไป ปัญหาจึงลุกลามเช่นนี้ คณะกรรมการฯจึงต้องมีมติแสดงความห่วงใย ไม่เช่นนั้น กำลังคนที่อุทิศตัว อยู่มานาน เขารู้สึกว่าระบบนี้ไปข่มเหงเขาก็จะเกิดปัญหาบุคลากรได้