ว่าด้วยเรื่องของ “P4P” หรือ “Pay-for-Performance” ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกว่า ในทางพระมีคำอยู่คำหนึ่งที่มีความหมายมากแต่มีคนเข้าใจน้อย...
คำนั้น คือ “สีลัพพตปรามาส”
ความหมายคือ การยึดถือในศีลและพรตที่ผิดๆ หรือที่ไม่ได้ผล หรือล้าสมัยแล้ว ถ้าแปลเป็นภาษาปัจจุบันก็คือการยึดมั่นในความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะไม่ตรงต่อความจริง
หรือ...เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว แต่เรายังยึดมั่นอยู่ในความเชื่อเดิมที่มันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่แล้ว ท่านว่าสีลัพพตปรามาสนำไปสู่ความไม่ได้ผล ความขัดแย้ง จนกระทั่งความรุนแรง เพื่อล้างความเชื่อผิดๆ
ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า ขณะนี้มีความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุข กับกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลชุมชน ด้านหนึ่งของความขัดแย้งคือโอกาสที่จะพัฒนา ยกระดับสูงขึ้นไปจากระดับที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ระบบการจ่ายเงินตอบแทน...มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของการปฏิบัติถ้าแรงจูงใจของแพทย์...อยู่ที่การมีคนไข้มาก แพทย์...ก็จะอยากให้มีคนไข้มาก
ในอุดมคติแพทย์ ควรจะอยากให้มีคนไข้น้อย คือประชาชนมีสุขภาพดี ยิ่งเจ็บป่วยน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี ดีต่อประชาชนและประเทศชาติ เราคุ้นเคยกับแพทย์รักษาคนไข้แล้วได้ผลตอบแทน แล้วถ้าแพทย์ช่วยให้คนไม่ป่วย จะมีวิธีตอบแทนการปฏิบัติ (Performance) ของเขาอย่างไร นี่เป็นของใหม่ที่จะต้องคิด
“ระบบบริการสุขภาพ”...กำลังวิกฤติทั่วโลก เพราะราคาแพงมาก สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่นำมาอ้างอิงกันทั่วโลก อเมริกาใช้งบ ประมาณทางสุขภาพถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด มีบุคลากรที่ฝึกมาอย่างดีที่สุด แต่ทั้งหมดนี้ไม่การันตีว่าอเมริกาจะมี “ระบบ” บริการที่ดีที่สุด
“ระบบบริการสุขภาพอเมริกันไม่มีประสิทธิภาพ คนอเมริกันประมาณ 40 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ...ขณะนี้เงินหมด เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองตามมา ขณะที่ปัญหามีมากขึ้น เช่น ปัญหาผู้สูงอายุ...”
การเน้นบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ราคาแพง ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ทำให้คุณภาพไม่ดี และระบบไม่มีประสิทธิภาพ
คำตอบอยู่ที่ “ระบบสุขภาพชุมชน”
เหลียวมองประเทศไทย บ้านเรามีโครงสร้างต่างๆ พร้อมที่จะสร้างระบบสุขภาพชุมชนที่ดี อยู่ที่ความเข้าใจและการจัดการแต่ละอำเภอมีประมาณ 10 ตำบล 100 หมู่บ้านมีโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง...มีสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. 10 แห่ง...มี อบต. 10 แห่ง สามารถมีสภาผู้นำชุมชนหรือองค์กรชุมชนได้ 100 แห่ง โดยที่ทั้งหมดนี้สามารถสร้างเป้าหมายของระบบสุขภาพชุมชนที่ดีที่สุดได้
เช่น ให้คนทั้งอำเภอมีสุขภาพดีที่สุด อย่าให้เจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น โดยการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ส่วนที่เจ็บป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงใกล้บ้านใกล้ใจที่สุด ให้คนไทยทุกคนมีหมอประจำครอบครัว
ทั้งนี้โดยเริ่มจาก ข้อที่หนึ่ง...ส่งเสริมสัมมาชีพเต็มพื้นที่
ข้อที่สอง...สร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน โดยทุกตำบลสำรวจว่ามีใครอยู่ในข่ายถูกทอดทิ้งบ้าง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กกำพร้า คนพิการ จัดให้มีอาสาสมัครดูแลหมดทุกคน โดยมีกองทุนสุขภาพตำบล ที่ สปสช. ยินดีจ่ายเงินสมทบ
ข้อที่สาม...สร้างเสริมสุขภาพ ทุกๆอย่างที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ข้อที่สี่...ป้องกันโรคทุกชนิดที่ป้องกันได้ อย่าให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น ข้อที่ห้า...รักษาโรคที่พบบ่อย โดยการรักษาตนเอง หรือการดูแลโดยครอบครัว หรือดูแลที่ รพ.สต. หรือโรงพยาบาลชุมชน สุดแต่กรณี
ข้อที่หก...ควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้หมดทุกคน โดย รพ.สต. ด้วยการสนับสนุนจากโรงพยาบาลชุมชน สามารถตรวจวินิจฉัยคนทั้งตำบลและควบคุมโรคได้หมดทุกคน
ข้อที่เจ็ด...ดูแลผู้สูงอายุได้หมดทุกคนทั้งตำบล แต่ละตำบลจัดให้มีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยครอบครัว หรืออาสาสมัคร หรือ ผู้บริบาล หรือพยาบาลเยี่ยมบ้าน สุดแต่กรณี
ข้อที่แปด...ทุกตำบลจัดให้มีนักสุขภาพครอบครัว หรือหมอประจำครอบครัวศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า คำว่า “หมอ”...ในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ อาจเป็นผดุงครรภ์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพยาบาล แต่ละคนดูแลประชาชนประมาณ 1,250 คน โดยใกล้ชิดประดุจญาติ ไปมาหาสู่ติดต่อถึงกันเป็นประจำ มีข้อมูลของทุกคนในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของตน
ดูแลกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “personal and continuous care”
ถ้ามีการดูแลกันอย่างรู้จักคุ้นเคยและต่อเนื่อง คุณภาพของบริการจะสูงมาก ซึ่งทำไม่ได้ที่โรงพยาบาลใหญ่ และทำให้เราควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ทั้งประเทศ ประเทศไทยสามารถจัดระบบบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ คนไทยทุกคนมีหมอประจำครอบครัวได้แล้ว
ข้อที่เก้า...สร้างระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและการส่งต่ออย่างดี เราสามารถวิจัย คำนวณล่วงหน้าว่าจะมีปัญหาฉุกเฉินอะไรบ้างในแต่ละอำเภอ แล้วฝึก...วางกำลังคนไว้ช่วยเหลือให้ทันท่วงที มีระบบส่งต่อที่ดี
วันนี้...หลาย อบต. มีรถพยาบาลเตรียมพร้อมอยู่ 24 ชั่วโมง การมีหมอประจำครอบครัวก็จะช่วยให้การส่งต่อมีคุณภาพดีขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้คือตัวอย่างของระบบสุขภาพชุมชน เพื่อสุขภาพของคนทั้งมวล (Health For All) ในอำเภอ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นทุกอำเภอ ทั้ง 800 อำเภอ ทั่วประเทศ“เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะลดภาระบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ๆลง ทำให้บริการด้วยความประณีตและคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะเป็นผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีมากขึ้น...
ที่เจ็บป่วยก็ได้รับการดูแลรักษาดีขึ้น ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งประเทศลดลง ลดความเครียดของบุคลากร และลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับญาติคนไข้ลง”
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (HA) ควรจะเข้ามาศึกษาหาวิธีประเมินคุณภาพของระบบสุขภาพชุมชน
“P4P”... เพื่อระบบสุขภาพชุมชนคงจะต้องคิดขึ้นใหม่
คงไม่ใช่จ่ายตามจำนวนการดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลเหมือนในโรงพยาบาลใหญ่
นั่นเป็นเพราะ...ระบบสุขภาพชุมชนมีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น แต่ที่ แน่ๆ...ค่าใช้จ่ายโดยรวมจะลดลง เพราะการส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีราคาถูกกว่ารอให้สุขภาพเสียแล้วค่อยรักษา ซึ่งบ่อยๆ...เสียทั้งเงินและเสียทั้งชีวิต
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ฝากทิ้งท้ายว่า
“ถ้าจะทะเลาะกันบ้าง...ก็ไม่ว่าอะไร แต่ต้องจำไว้เสมอว่าหากมีการทะเลาะกัน...ต้องใช้เป็นโอกาสที่จะยกระดับไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่าระดับที่ทะเลาะกัน โดยเฉพาะดีต่อประโยชน์สุขของประชาชน”
ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 27 เมษายน 2556
- 510 views