ศ.นพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ความสับสนอลวนที่สนามบินสุวรรณภูมิ คือปัญหาของการจัดการตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง ความขลุกขลักสับสนหรือการทำอะไรๆ ไม่ได้ผล เป็นเพราะขาดการจัดการที่ดี
“การจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้” (Management makes the impossible possible)
ทำไมการจัดการจึงทรงพลังยิ่ง
“การบริหาร”(Administration) กับ “การจัดการ” (Management) ไม่เหมือนกัน การบริหารคือบริหารตามกฎระเบียบ หรือบริหารอำนาจ ซึ่งทางราชการมีกฎหมาย กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ ฉบับ! ที่ข้าราชการจะต้องปฏิบัติ นั่นคือระบบอำนาจควบคุม
แต่การจัดการเป็นการบริหารความรู้หรือบริหารปัญญา คือต้องสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องโควิด-19 ทุกแง่ทุกมุมอย่างทะลุปรุโปร่ง ถ้าขาดความรู้อย่างทะลุปรุโปร่งจะจัดการไม่ถูก (โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองจัดการไม่เป็น) การจัดการต้องสามารถสื่อสาร ไปสู่ผู้เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างชัดเจน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีมากหลาย และประชาชนทั่วไป การสื่อสารที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการ ถ้าปราศจากความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันก็จะไม่เกิดความเป็นเอกภาพ เกิดความติดขัดสับสนและไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ การจัดการที่ดียังต้องติดตามว่าการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ติดขัดหรือมีอุปสรรคอย่างใดและช่วยแก้ไข การจัดการที่ดียังต้องประเมินผลว่าได้ผลมากน้อยเพียงใดเพราะเหตุใด แล้วนำผลที่ประเมินป้อนกลับมาปรับปรุงกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่นโยบายลงมาจึงจะครบวงจรของการจัดการ
การจัดการจึงเป็นการสร้างความรู้และบริหารความรู้ให้เชื่อมโยงกันไปสู่ความสำเร็จ จึงเป็นอิทธิปัญญา (อิทธิ = สำเร็จ) เมื่อเป็นการใช้ปัญญาทุกขั้นตอนจึงไม่มีอะไรทานได้ ต่างจากการบริหารเชิงอำนาจ
ในทางการเมืองและราชการคุ้นเคยแต่การบริหารเชิงอำนาจ การเผชิญวิกฤตโควิด-19 คราวนี้เผยให้เห็นโดยทั่วกันว่า อำนาจโดยขาดปัญญาทำการให้ได้ผลไม่ได้
การที่ภูมิปัญญาในการจัดการเกือบจะขาดไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิ งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่ดำเนินมา ๑๐๐ กว่าปี ที่เน้นการเรียนรู้จากการ “ท่อง” มากกว่าการ “ทำ” ท่องวิชาไม่ทำให้จัดการเป็น การทำอะไรให้สำเร็จต้องจัดการเป็น เสร็จศึกโควิด-19 คนไทยต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง ซึ่งจะทำให้คนไทยทำเป็น คิดเป็น และจัดการเป็น หรือเป็นคนเก่งทั้งประเทศ
เฉพาะหน้า ต้องดูว่า โครงสร้างอำนาจ ของระบบราชการอย่างเดียวเผชิญวิกฤตไม่ได้ แต่ต้องการโครงสร้างทางสมองอีกด้วย และเร่งด่วน ถ้าเข้าใจก็เกิดขึ้นได้ง่ายและเร็ว นั่นคือมี “กลุ่มจัดการ” ขนาดต่างๆ และในเรื่องต่างๆ
“กลุ่มจัดการ” ประกอบด้วยคน ๒-๓ คน หรือหลายคนที่ทำหน้าที่ประดุจ เซลล์สมอง นั่นคือ
รับรู้ข้อมูลความเป็นจริง
นำข้อมูลมาวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้เป็นความรู้เพื่อการใช้งาน
สื่อสารความรู้นั้นออกไปสู่สาธารณะและผู้เกี่ยวข้อง
ติดตามว่าผู้รับสารเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้
ถ้าติดขัดในการปฏิบัติอย่างใด ช่วยประสานให้เกิดการแก้ไขเพื่อปฏิบัติได้
ประเมินผลการปฏิบัติ
นำผลการป้อนกลับไปเป็นข้อมูลนำเข้าในข้อ (๑) ให้มีการปรับตัวให้ดีขึ้น
จะเห็นว่างานของ “กลุ่มจัดการ” เป็นการเชื่อมต่อทางปัญญา “กลุ่มจัดการ” เช่นนี้ ต้องการทุกระดับและทุกเรื่อง ตั้งแต่ระดับชุมชน มาจนถึงการพัฒนานโยบายสาธารณะ และอาจเรียกชื่อต่างๆ ตามแห่งหนและหน้าที่ เช่น “กลุ่มจัดการขนาดเล็ก” (Micro management group) “กลุ่มพัฒนานโยบาย” “กลุ่มสนับสนุนยุทธศาสตร์พิชิตโควิด-19” ฯลฯ
“กลุ่มจัดการ” หรือกลุ่มเซลล์สมองอาจจะเกิดขึ้นโดยทางการสนับสนุน หรือก่อตัวขึ้นเองโดยอิสระ เมื่อเกิดขึ้นเต็มประเทศ ประเทศก็จะมีโครงสร้างทางสมอง ไม่ได้มีแต่โครงสร้างอำนาจอย่างเดียว
ที่กล่าวมานี้ ผู้ที่จะเข้าใจดีที่สุดคือภาคธุรกิจ เพราะเป็นภาคที่มีการจัดการเข้มแข็งที่สุด และอยู่ในฐานะที่จะเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนได้ดีที่สุด ให้ประเทศไทยเกิดโครงสร้างทางสมอง
เฉพาะหน้า ภาคธุรกิจน่าจะรวมตัวกันตั้ง “War Room พิชิตโควิด-19” ใช้ความคล่องตัวของภาคธุรกิจ ศึกษาเรื่องโควิด-19 ทุกแง่มุมอย่างทะลุปรุโปร่ง และใช้ความสามารถในการสื่อสารของภาคธุรกิจให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน เป็นการช่วยภาครัฐอีกแรงหนึ่ง การจะช่วยภาครัฐได้ดีต้องเป็นอิสระ ถ้าเข้าไปช่วยโดยอยู่ใต้การบัญชาการของภาครัฐ จะถูกความเป็นราชการ (Bureaucracy) จำกัดศักยภาพของภาคธุรกิจ ทำให้ช่วยไม่ได้มาก
และหลังสงครามพิชิตโควิด-19 ภาคธุรกิจควรมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้ จากการเรียนรู้โดย “ท่อง” มาเป็นเรียนรู้โดย “ทำ” ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องทำเป็น อดทน และรับผิดชอบ เหมาะแก่การอบรมคนให้ทำเป็น อดทน และรับผิดชอบ
การเรียนรู้ในฐานการทำงาน (Work-Based Learning) หรือ WBL จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยรอบด้าน ทั้งที่ทำให้คนไทยทั้งมวลเป็นคนทำเก่ง คิดเก่ง จัดการเก่ง แล้วยังทำให้เศรษฐกิจดี สังคมดี ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมอีกด้วย และจะไม่มีการตกงานอีกต่อไป
- 42 views