"หมอประเวศ" เขียนถึงคนรุ่นใหม่ ที่จะมาแทนคนรุ่นเก่า จึงเป็นอนาคตของประเทศไทย
คนรุ่นใหม่จะมาแทนคนรุ่นเก่า จึงเป็นอนาคตของประเทศไทย
คนรุ่นใหม่ยิ่งเก่งยิ่งดี อนาคตประเทศไทยยิ่งรุ่งโรจน์
คนรุ่นเก่าจึงควรถนอมรักคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้เขาเก่งและดี
เขาก็คือลูกหลานของเรานั่นเอง
แต่ใหม่ไม่เหมือนเก่า เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง
ตามพระพุทธดำรัส ไม่มีอะไรอยู่คงที่หรืออนิจจังโดยไม่เปลี่ยนแปลง
ที่เปลี่ยนก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยน หรือความเป็นเหตุเป็นผล
ที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ
การที่ลูกหลานไม่เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์เหมือนเดิม ไม่ใช่เขาเป็นคนเลว
ถ้าคิดว่าลูกเลว พ่อแม่จะมีความทุกข์สูงสุด
ทางพุทธศาสนาถือว่าทุกข์เกิดเพราะ “อวิชชา” หรือความไม่รู้ ไม่รู้ความจริง
ผมเคยอธิบายให้แม่ที่มีความทุกข์เพราะลูก หายทุกข์ทันทีเมื่อรู้ความจริง
ความจริงก็คือมีเหตุให้เป็นเช่นนั้น ในสมัยโบราณผู้เยาว์ได้รับข้อมูล
เฉพาะจากพ่อแม่และครู จึงเชื่อฟังพ่อแม่และครู
สมัยปัจจุบันข้อมูลมาจากทุกทิศทุกทาง อย่างหลากหลาย
คนรุ่นใหม่จึงไม่เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เหมือนคนรุ่นเก่า
ยิ่งยัดเยียดยิ่งห้ามปราม ยิ่งอยากทำ เหมือนกันทั่วโลก
มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นเช่นนั้น ตถตา
คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มีจุดอ่อนจุดแข็ง ที่จะเสริมกัน
คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ยาวแต่อนาคตสั้น คนรุ่นใหม่อนาคตยาวแต่ประสบการณ์สั้น
มหาตมะคานธีกล่าวว่า ถ้าคุณเรียนจากตำราคุณได้ความรู้
แต่ถ้าคุณเรียนจากประสบการณ์คุณได้ปัญญา
คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางปัญญาอย่างวิเศษ
แต่อาจขาดพลังขับเคลื่อนสู่อนาคต ที่คนรุ่นใหม่มีมากกว่า
ฉะนั้น การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ระหว่างเก่ากับใหม่
จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด และนำไปสู่ความสุขประดุจบรรลุนิพพาน
คนรุ่นเก่าก็ได้ถนอมรักลูกหลาน และเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่
คนรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของความล้มเหลวหรือสำเร็จของอดีต
ที่สำคัญ สมองส่วนวิจารณญาณสูงสุดที่เรียกว่า Prefrontal cortex
ของคนก่อนวัยเบญจเพส ยังพัฒนาไม่เต็มที่
คนรุ่นใหม่ที่ยังเยาว์วัยจึงถูกฮอร์โมนเร่งเร้าให้พุ่งทะยาน
อาจขาดความยับยั้งชั่งใจ ก่อความรุนแรงได้ง่าย
“การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning to action) ในสถานการณ์จริง”
เป็นเครื่องมืออันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคและข้อจำกัดทุกเรื่อง
ทิศทางอนาคตประเทศไทยหลังโควิด และของโลก
จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทิศทางเดิมที่ล้มเหลวหมดยุคลงแล้ว
ทิศทางใหม่ต้องเริ่มต้นด้วยการเห็นหรือทิฏฐิใหม่ ทิฏฐิแปลว่าเห็น
การเห็นใหม่คือเห็นความจริง ทิศทางเก่าของโลกเห็นผิด จึงล้มเหลว
ที่ว่าเห็นผิดคือเห็นเป็นส่วนๆ หรือเห็นบางส่วน หรือเห็นแบบแยกส่วน
ความจริงคือธรรมชาติทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นองค์รวม (Wholeness) หนึ่งเดียวกัน (Oneness)
เมื่อเห็นแบบแยกส่วนก็ทำอะไรๆ แบบแยกส่วน ซึ่งนำไปสู่การเสียสมดุลโลกเสียสมดุลหมดทุกมิติ จึงวิกฤต และโควิดจึงมา
ทิศทางอนาคตคือการเห็นทั้งหมด และพัฒนาอย่างสมดุล
การจัดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ
ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็กที่คนอยู่ร่วมกันด้วยความสุขไปจนถึงชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับตามสมรรถนะของ การจัดการให้มีความสมดุล
การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่หรือระหว่างทุกฝ่ายจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง (Transformation) ในทุกมิติ
ที่ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น ยิ่งไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust) มากขึ้น
ยิ่งเสมอภาคและมีภราดรภาพมากขึ้น ยิ่งฉลาดมากขึ้น ยิ่งฉลาดร่วมกัน (Collective wisdom) มากขึ้น ยิ่งเกิดนวัตกรรมและอัจฉริยภาพกลุ่ม Group genius มากขึ้น
ยิ่งสามารถฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น ยิ่งมีความสุขมากขึ้นประดุจบรรลุนิพพาน
แทนที่จะมีความทุกข์เพราะคนรุ่นใหม่ กลับกลายเป็นความสุขร่วมกัน ประดุจบรรลุนิพพาน เพราะความสิ้นไปของ “อวิชา” โดยแท้
---------------------------------------------------------------
- 258 views