นักวิจัยชี้เกณฑ์จ่ายค่าหมดระบบ P4P ยังคลุมเครือ หวั่นสร้างปัญหาต่อ

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังมีปัญหาบางประเด็นได้แก่ 1.งานวิชาการต้นแบบยังไม่สมบูรณ์พอ และไม่ได้ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ภายใน สธ. โดยเฉพาะจากฝ่ายที่คิดว่าตัวเองเสียประโยชน์ 2.วัตถุประสงค์หลักเกิดจากต้องการคุมงบ สธ. จึงใส่เงินเพิ่มเข้าไปแค่ 1% ซึ่งไม่พอที่จะให้เกิดแรงจูงใจ แต่ใช้วิธีล้วงจากเบี้ยเหมาจ่ายมาเกลี่ยใหม่จำนวนมาก ทำให้กลุ่มที่เคยได้รับเงินส่วนนี้ห่วงว่าจะสูญเสียรายได้ และ 3.ระยะเวลา1 ปี เป็นช่วงสั้นมาก ซึ่งมีโอกาสกระทบแผนการเงินส่วนตัวของบุคลากรที่อาจต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ

"งานวิจัยการจัดทำคู่มือประเมินตามระบบ P4P ที่ สธ. ใช้เป็นต้นแบบก็ไม่ได้มีฉันทามติในเรื่องการคิดคะแนนและในบางหัวข้อยังแนะนำว่าควรไปตกลงกันเองในแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งแม้จะยืดหยุ่นแต่มีโอกาสจะสร้างปัญหามาก นอกจากนี้ทีมวิจัยเองก็ไม่พร้อมที่จะฟันธง แต่สธ.กลับฟันธง โดยไม่ได้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นจากเดิม" นายวิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องกลุ่มแพทย์ชนบทในการไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. นั้นไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะไม่มีหลักฐานชัดว่า นพ.ประดิษฐ เข้ามาเกี่ยวโดยตรง ส่วนทีมผู้วิจัย P4P ก็มาจากข้าราชการ สธ. ซึ่งเคยทำงานวิชาการสนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพมาก่อนเช่น นพ.ภูษิต ประคองสาย และ นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ซึ่งต่างก็เคยเป็นกำลังสำคัญของแพทย์ชนบท ไม่ใช่คนที่นักการเมืองเพิ่งแต่งตั้งเข้าไป

ด้านเครือข่ายแพทย์โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ออกแถลงการณ์ค้าน P4P โดยขอจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิมแต่หากโรงพยาบาลใดสนใจใช้ระบบ P4P ก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจ

นอกจากนี้ ให้ สธ.เลิกเหมารวมเกณฑ์เดียวทั้งประเทศ และเลิกสร้างความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ กับโรงพยาบาลเล็ก n

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 เมษายน 2556