“วิโรจน์ ณ ระนอง” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ ประเทศไทยไร้ฉันทามติหลักประกั
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยไม่เคยมีฉันทามติในเรื่องหลักประกันสุขภาพ และตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา (รวมทั้ง 15 ปีที่มีโครงการ 30 บาท) ก็ค่อนข้างชัดว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะหาฉันทามติในเรื่องนี้ร่วมกัน
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ข้อถกเถียงในเรื่องหลักประกันสุขภาพตั้งแต่อดีตคือจะช่วยใครบ้างและช่วยแค่ไหน ซึ่งฉันทามติเดียวที่พอจะมีร่วมกันคือเราไม่ต้องการเห็นใครมาดิ้นตายบนท้องถนน โดยฝ่ายหนึ่งเสนอว่าควรใช้ระบบเดิมคือการสงเคราะห์คนจน ใครที่มารับการรักษาแล้วไม่มีเงินก็ให้โรงพยาบาลพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป
ส่วนอีกฝ่ายก็เห็นว่าประเทศควรมีหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคน เพราะนอกจากการตัดสินว่าใครจนจะยากอยู่แล้ว ในเรื่องสุขภาพจะยิ่งยากขึ้นไปอีก เช่นบางคนอาจจะมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า แต่เมื่อเกิดการเจ็บป่วยก็อาจจะขาดรายได้ ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนที่จนเพราะการเจ็บป่วยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยยังตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางความคิดที่นำมาสู่สงครามเสื้อสีหรือความขัดแย้งทางชนชั้น ถ้าแบ่งโดยหยาบๆ กลุ่มที่เรียกร้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือชนชั้นกลางระดับล่าง ขณะที่กลุ่มที่แสดงความกังวลว่าหลักประกันสุขภาพจะสร้างภาระงบประมาณมักจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งคนกลุ่มนี้มักต้องการให้รัฐบาลเก็บภาษีน้อยๆ เพื่อให้ตัวเองมีเงินเก็บไว้สำหรับเลือกโรงพยาบาล แพทย์ หรือโรงเรียนดีๆ ให้ตัวเองและครอบครัว
“เรื่องนี้ไม่ว่าสังคมไทยและผู้ให้บริการต่างก็ไม่เคยมีฉันทามติร่วมกันว่าจะเอาแบบไหน และตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเด็นข่าวที่ออกมาในสื่อก็ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้มีอำนาจด้วย ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็มักจะเอาด้วยกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่เขาบอกว่าไม่สนใจคะแนนเสียง ก็อาจจะฟังและเห็นด้วยกับแนวความคิดอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยโครงการ 30 บาท และตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมาทำหน้าที่ซื้อบริการหรือจัดสรรเงินสำหรับโครงการนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรายได้ของสถานบริการด้วย เพราะนอกจากโรงพยาบาลจะขาดรายได้ที่เคยเก็บจากผู้ป่วยเองแล้ว ยังได้รับเงินจากรัฐบาลไม่เพียงพอด้วย เป็นเหตุให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาเรื่องการเงิน
“โครงการ 30 บาท มาพร้อมกับปัญหาเงินไม่พอ ถึงแม้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งอ้างว่าเงินเพียงพอ แล้วบอกว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริหารการเงินไม่ดีเอง ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเพียงการให้เหตุผลในการถกเถียงกัน แต่ในความเป็นจริง แทบทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็ยอมรับกันว่าเงินที่ สปสช.ให้หน่วยบริการนั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาจัดบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลได้ ทำให้ผู้ให้บริการจำนวนมากเกิดความรู้สึกและมองว่าผู้ป่วย 30 บาท ที่เข้ามารับการรักษาคือภาระของโรงพยาบาล และนำไปสู่การรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานในหลายกรณี” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะหาฉันทามติร่วมกันทั้งในระดับผู้ให้บริการและในระดับสังคม โดยเฉพาะในระดับสังคมซึ่งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนว่าหลายคนจะเห็นต่างกันมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ส่วนระดับผู้ให้บริการเองก็เป็นเรื่องยาก เพราะยังมีปัญหาเรื่องเงินไม่เพียงพอ
“เรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ขยับยาก ทิศทางจึงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ แต่ทิศทางของรัฐก็คงยังไม่นำไปสู่ทิศทางที่น่าพึงปรารถนาอยู่ดี เช่น ถ้ารัฐบาลนี้ต้องการกลับไปใช้แนวทางเดิมคือระบบสงเคราะห์ ก็จะต้องหาทางเก็บเงินจากผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าออกแบบระบบไม่ดีพอ ก็จะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สนับสนุนแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็อาจจะไม่ยินดีที่จะจัดสรรงบให้โครงการนี้เพิ่มมากพอ เพราะจะทำอย่างนั้นได้ก็อาจจำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลก็ต้องเจอเสียงคัดค้านจากกลุ่มที่มีฐานะดี และในขณะเดียวกันรัฐบาลต่อๆ ไปก็อาจจะไม่ค่อยกล้าตัดงบประมาณอื่นๆ ที่มีประโยชน์น้อยกว่ามาเพิ่มให้โครงการนี้ เพราะงบที่เข้าเกณฑ์นี้มากที่สุดก็คืองบทหาร ที่นอกจากจะลดยากแล้ว ยังมีแรงกดดันให้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากปีละไม่ถึงแสนล้านมาเป็นมากกว่าสองแสนล้านบาทต่อปีในชั่วระยะเวลาเพียงสิบปี” ดร.วิโรจน์ กล่าว
- 7 views