ยอดไข้หวัดนกจีนพุ่ง 6 ศพ จากผู้ติดเชื้อ 14 ญี่ปุ่นงัดมาตรการตรวจเข้มผู้โดยสารจีนเข้าประเทศ ขณะที่หุ้นฮ่องกงร่วงระนาว นักลงทุนหวั่นกระทบเศรษฐกิจ ด้านศึกพีฟอร์พีไม่จบ หมอชนบทแห่ลาออกเป็นดอกเห็ด 151 ราย อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทหวั่นประชาชนเดือดร้อนโกลาหลทั่วประเทศ ขณะที่แพทย์ดีเด่น เดือด อัด รมต.ดูถูกวิชาชีพ ซัดหมอไม่ใช่พนักงานขายทำยอดรักษาคน สธ.เดินหน้าลงนาม P4P
สถานการณ์ความคืบหน้าไข้หวัดใหญ่ชนิดเอที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 ติดเชื้อสู่มนุษย์เป็นครั้งแรกนั้น โดยล่าสุดถึงวันที่ 5 เมษายน ทางการจีนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 6 รายแล้ว จากผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 14 ราย โดยทั้งหมดล้วนอยู่ในภาคตะวันออกของจีน
ข่าวซินหัวรายงานว่า ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นเกษตรกรวัย 64 ปี จากเมืองหูโจว ในมณฑลเจ้อเจียง คนติดต่อใกล้ชิดเขา 55 รายยังไม่มีใครแสดงอาการติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ผู้เสียชีวิต 4 รายจาก 6 รายนั้นเป็นชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญและมีประชากรถึง 23 ล้านคน
รายงานกล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ตามเก็บตัวอย่างจากสัตว์ปีกในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิตหลายแห่ง และพบว่ามูลนกพิราบที่เก็บจากตลาดฮู่หวยมีเชื้อไวรัสเอช 7 เอ็น 9 เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจปิดตลาดนี้แล้วเริ่มกำจัดสัตว์ปีกแล้วมากกว่า 20,000 ตัว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังห้ามการซื้อขายสัตว์ปีกชั่วคราวในตลาดอีก 2 แห่งเป็นการชั่วคราว แล้วให้ทำการฆ่าเชื้อ ส่วนซากสัตว์ปีกที่ตลาดฮู่หวย รวมถึงมูลสัตว์และอาหารที่ปนเปื้อนจะถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในตลาดด้วย
เช่นเดียวกับไข้หวัดนกที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ เช่น เอช 1 เอ็น 1 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบกรณีเอช 7 เอ็น 9 แพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน แต่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านของจีนได้เพิ่มการตรวจตราอย่างเข้มงวดแล้ว เช่น ญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข้อมูลแจ้งผู้โดยสารจากจีนทุกคนให้พบแพทย์หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ส่วนสนามบินฮ่องกงเริ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และเวียดนามสั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากจีน
สธ.เฝ้าระวังชายแดน
กระแสหวั่นเกรงการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์นี้ ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงผันผวนหนักเมื่อวันศุกร์ ดัชนีตกลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากนักลงทุนหวั่นเกรงผล กระทบทางเศรษฐกิจ หุ้นสายการบินหลายแห่งของจีนร่วงลงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลนส์, ไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลนส์ และแอร์ไชน่า หรือกระทั่งคาเธ่ย์แปซิฟิกก็ร่วงตามไปด้วย
ขณะที่ความคืบหน้ามาตรการป้องกันในประเทศไทยนั้น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. พร้อมผู้บริหาร สธ. ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยา บาลทั่วไป เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดนก
นพ.ณรงค์กล่าวว่า วันนี้ประเทศ ไทยต้องเตรียมตัวให้มากขึ้น เพราะสถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดนของประเทศ โดยการเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่ม ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุน แรง 2.ผู้ป่วยปอดบวมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปและมีความเกี่ยวข้องทางระบาดวิทยา 3.ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไม่ ว่าจะเป็นประเทศอะไรก็ตาม ที่มีอาการปอดบวม และ 4.บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ป่วยเป็นปอดบวม ทั้ง นี้ สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมให้การรักษา เช่น การสำรองยาให้พร้อม ให้อาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังในชุมชน โดยเฉพาะสัตว์ปีกป่วย โดยเฉพาะจังหวัดแถบชายแดนและกลุ่มนักท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศขอให้ระวังการสัมผัสสัตว์ปีก
ความเคลื่อนไหวคัดค้านการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี ล่าสุดกลุ่มแพทย์ชนบทได้ทยอยลาออกรายวันเพื่อประท้วงกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์ลาออกระหว่างเดือน ก.พ.-ต้น เม.ย.2556 รวมทั้งหมด 151 รายแล้ว ล่าสุดคือแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูก 1 คน แพทย์แผนก หู คอ จมูก 1 คน รพ.บางบัวทอง ลาออกเพื่อไปอยู่ที่ รพ.เอกชน และแพทย์จบใหม่จากทุนของ รพ.บางบัวทองตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อจบกลับมาจะได้อยู่ รพ.เอกชนต่อไป แต่ตัวเลขทั้งหมดนี้ยังไม่ถึง สธ. (สธ.) ส่วนตัวเลขที่ รมว.สธ.แถลงนั้น เป็นตัวเลขของการลาออกเมื่อถึงเดือน ธ.ค.2555 ก่อนการจัดสรรแพทย์ปี 2556
หวั่นโกลาหลทั่วประเทศ
นพ.อารักษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการสอบถามแพทย์ที่ลาออก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการปรับระเบียบค่าตอบ แทนจากแบบเหมาจ่ายมาเป็นจ่ายแบบพีฟอร์พีเกือบทั้งหมด แต่เนื่องจากแพทย์บางคนไม่อยากจะเปิดเผยตัวให้มีปัญหา แต่บางคนก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าลาออกไปอยู่ที่ รพ.เอกชน เนื่องจากการปรับระเบียบดังกล่าว และเชื่อว่าต่อจากนี้จะมีแพทย์ทยอยลาออกเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากตอนนี้ สธ.จัดสรรแพทย์ปี 1 ไปหมดแล้ว โดยใช้ตัวเลขแพทย์ที่ลาออก ย้ายไปศึกษาต่อเมื่อเดือน ธ.ค.2555 เพราะฉะนั้นคิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน
"คิดว่าวันนี้ประชาชนเดือดร้อนแน่นอน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะมีหมอ 3 คน เหลือ 2 หมอ 4 คน เหลือ 2 เป็นต้น จึงกลายเป็นว่าคนไข้เดือดร้อนแน่นอน และจะออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ จะเอาหมอที่ไหนมาแทนแล้ว หมอที่มีอยู่ก็รับภาระเพิ่ม แต่เพิ่มขึ้น แล้วทำไม่ไหว ก็ต้องหยุด สภาพตอนนี้โกลาหลมาก มีการขึ้นป้ายกันทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เป็นรายวันเลย" นพ.อารักษ์กล่าว และว่า ตามระเบียบขั้นตอนแล้ว คาดว่าการลาออกของแพทย์เหล่านี้น่าจะมีผลในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า
นพ.อารักษ์กล่าวว่า เราพยายามบอกว่าใน รพ.ชุมชนไม่เหมาะกับการใช้พีฟอร์พี ล่าสุดพยาบาลที่ทำงานใน รพ.ชุมชนเริ่มรู้ตัวว่าถูก สธ.โกหกว่าจะได้เงินเพิ่มจากระเบียบพีฟอร์พี เพราะเงินที่จะได้เพิ่มจากการทำตามระเบียบดังกล่าวจะได้เพิ่มเพียงแค่ 50-100 บาท เช่นที่ รพ.ของตนมีพยาบาลประมาณ 70 คน เงินเดือนรวมประมาณ 4 แสนบาท อัตราเดิมจ่ายตามเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแล้วเอา 1% ของค่าแรงมาทำพี ฟอร์พี 4 แสนของเงินเดือน 1% เท่ากับ 4,000 บาท ในจำนวน 4,000 บาทนี้ พยาบาล 70 คนมาแข่งกันทำพีฟอร์พี
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่เกิดข่าวเรื่องที่กระทรวง สธ.จะลดทอนแรงจูงใจและสื่อให้เห็นว่า รพ.ในเขตเมืองเช่นบางบัวทองเป็นเหมือนจำเลยสังคม จนต้องนำเหตุผลนี้มาปรับลด ตัด เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่เคยเป็นเครื่องมือที่ดูดให้บุคลากรในสาขาขาดแคลนให้อยากมาทำงานมากขึ้น
"น่าสงสารประชาชนที่จะขาดแพทย์เฉพาะทางดูแลในพื้นที่ใกล้บ้าน เช่น คนพิการที่ยากจนแถบบริเวณอำ เภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ที่อาจต้องเสียชีวิต หรือพิการมากขึ้น เพราะไม่อาจเดินทางไปรักษาที่ รพ.เอกชนในเมืองได้ ท่านนายกฯ ไม่ห่วงและสงสารประชาชนในชนบทที่เป็นฐานเสียง เลือกตั้งท่านมาจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่จะต้องทนทุกข์ทรมานหรือเสียชีวิตเลยหรืออย่างไร ยิ่งตัดสินใจช้าชาวบ้านจะพิการและล้มตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว
นพ.ธวัชชัย ยิ่งเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก แพทย์ดีเด่นกองทุนกนกศักดิ์ พูนเกสร 2550 ให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท มีข้อความช่วงหนึ่งระบุว่า ในเมื่อสุขภาพมันต่างจากบริการและสินค้าปกติ ทำไมใช้วิธีการปกติแบบขายมากได้มากมาใช้กับบริการสาธารณะอย่างนี้ มันถูกต้องและเหมาะสมแล้วหรือ วิธีคิดอย่างนี้เหมือนพนักงานขายของเลย
"ผมให้เงินเดือนประจำคุณแต่ไม่มากนะ คุณต้องทำยอดขายให้ได้เท่านี้คุณจะได้คอมมิชชั่นเท่านี้ ถ้าคุณทำยอดได้ไม่เข้าเป้า 6 เดือนติดต่อกันคงต้องให้คุณไปหางานใหม่ ไม่ว่าทางผู้ใหญ่คิดอย่างไร ผมถือว่าเป็นการดูถูกวิชาชีพทางสุขภาพเราอย่างรุนแรง ผมไม่คิดว่าจะถูกดูถูกขนาดนี้ ผมยอมรับได้ว่าถ้าบอกว่าไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ แต่ผมรับไม่ได้ถ้าบอกว่าขี้เกียจไม่รับผิดชอบ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีน้ำใจ หมอชนบทลาออก เอกชนก็ไม่รับ คนเป็น รมต.ดูถูกดูแคลนอย่างมาก" นพ.ธวัชชัยกล่าว
นพ.ธวัชชัยระบุว่า เราอยากมีหมอที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ หรือหมอที่มีหัวใจทุนนิยม เราอยากได้ความภาคภูมิใจจากงานที่ทำ หรืออยากได้เงินจากทุกกิจกรรมที่มีคะแนน ระบบนี้จะแก้ไขความขาดแคลนหรือทำให้ยิ่งขาดแคลนบุคลากรในชนบท ในเมื่อขวัญและกำลังใจเราถูกบั่นทอน
"วิชาชีพจะกลายเป็นอาชีพ การดูแลผู้ป่วยก็เหมือนการทำยอดขาย ความเป็นธรรมคงห่างไกลออกไปทุกที ผมรู้สึกแย่นะที่ต้องมาเขียนเรื่องเหล่านี้ แต่ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ผมต้องมาทบ ทวนตัวเองและทบทวนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ว่าคิดอย่างไรกับผู้ปฏิบัติงานในชนบท" นพ.ธวัชชัยระบุ
ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในต่างประเทศ การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ใช้วิธีการกำหนดเพดานค่าตอบแทน และจำนวน รพ.เอกชน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลอย่างเช่นที่ไทยกำลังประสบ แต่นโยบายรัฐบาลชุดนี้กลับสนับสนุนการเติบโตของ รพ.เอกชน ให้มีการนำเรื่องสุขภาพมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้และส่งเสริมนโยบายเมดิคัลฮับ ให้เป็นโครงการที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่ก็เป็นประโยชน์เฉพาะกับแพทย์พาณิชย์และธุรกิจ รพ.เอกชน ย่อมส่งผลทำให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกลรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับนโย บายพีฟอร์พี ซึ่งน่าจะเป็นตัวเร่งให้ปัญ หาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เข้าสู่จุดวิกฤติเร็วขึ้นอีก
สธ.ลงนามพีฟอร์พี
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) กล่าวว่า วันศุกร์ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. จะลงนามในประกาศระเบียบวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2556 เป็นต้นไป และภายในวันเดียวกันนี้ จะทำหนังสือสั่งการไปยังทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามพร้อมกับหนังสือคู่มือด้วย และหลังจากนั้นจะมีการเดินสายประชุมวิชาการเพื่อทำความเข้าใจ และให้คำแนะนำในการดำเนินงานกันใน 4 ภาค ขอร้องน้องๆ ในหน่วยบริการทุกระดับเข้ามาร่วมประชุมครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับพื้นที่ใหม่เป็นพื้นที่เขตเมือง พื้นที่ปกติ และพื้นที่ทุรกันดาร 1, 2 ได้มีการประกาศรายชื่อไปเรียบร้อยแล้วนั้น แต่หากพื้นที่ใดคิดว่าพื้นที่ไหนบ้างที่ประกาศไปแล้วไม่เหมาะสม ก็ขอให้ทำเรื่องอุทธรณ์ พร้อมเหตุผลเสนอกลับมายัง สธ.ภายในวันที่ 19 เม.ย.นี้ หลังจากนั้นคณะกรรมการจัดสรรพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วย สธ. สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ตัวแทนหน่วยบริการ ตัวแทนชมรมต่างๆ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องให้เป็นกรรมการตามมติ ครม. จะประชุมจัดสรรพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง หากคณะกรรมการเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ก็จะมีมติให้ยืนตามประกาศนั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 เมษายน 2556
- 4 views