ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคืนเก้าอี้ร้องปลัด สธ. “หมอชาญวิทย์” หลังถูก “หมอรัชตะ” “หมอณรงค์” เมื่อครั้งเป็น รมว.สธ. และปลัด สธ.เด้งจากรองปลัดไปเป็นผู้ตรวจ เมื่อปลายปี 2557 ระบุเป็นคำสั่งย้ายมิชอบ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคืนเก้าอี้ร้องปลัดมีผลย้อนหลัง 11 พ.ย. 57 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ บ.๒๐๖/๒๕๕๘ หมายเลขแดงที่ บ. ๒๖๔/๒๕๖๑ คดีพิพาท ตามที่ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2557 ในกรณีถูกโยกย้ายในขณะดำรงแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โดยมีผู้ถูกฟ้อง กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) ที่ 2 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์) ที่ 3 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ที่ 4 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ 5 กระทรวงการคลัง ที่ 6 และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่ 7
ทั้งนี้ในการพิเคราะห์ของศาลเห็นว่า การโยกย้าย นพ.ชาญวิทย์ ไปเป็นผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นการใช้ดุลพินิจของ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.ณรงค์ ที่เป็นฝ่ายบริหาร และโดยที่การแต่งตั้งข้าราชการเพื่อย้ายสับเปลี่ยนจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง มีความแตกต่างกันในบทบาทและอำนาจหน้าที่ เป็นเรื่องบริหารบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการได้โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และประโยชน์หน่วยงานตามเจตนารมณ์ และหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ดังนั้นฝ่ายบริหารจึงต้องใช้อำนาจดุลพินิจสอดคล้องและอยู่ภายในของเขตกกฎหมายดังกล่าว หากการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารไม่มีเหตุผลรองรับ การใช้อำนาจดุลพินิจย่อมเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
โดยมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า เหตุผลการเสนอย้าย นพ.ชาญวิทย์ ตามที่หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ ๐๒๐๑.๐๓๖/๒๐๗๑ ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า ในขณะที่ นพ.ชาญวิทย์ดำรงตำแหน่งรองปลัด สธ.นั้น การปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจที่ผ่านมามีปัญหา เนื่องจากมีความเข้าใจในข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ทำให้งานราชการของกรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของ นพ.ชาญวิทย์ ที่ดำรงตำแหน่งรองปลัด สธ.ขณะนั้นเกิดความล่าช้า และอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อราชการได้ เป็นการใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลเห็นว่า การออกคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และมีกฎหมายที่ให้อำนาจ และยังต้องอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตามมาตรา 21 วรรคหกแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริการราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2535 ดังนั้นจึงไม่อาจรับฟังเป็นเหตุผลรองรับเพื่อเสนอย้าย นพ.ชาญวิทย์ได้ จึงเป็นการออกคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประกาศ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เฉพาะในส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามนัยมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง (๘) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 คือ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.ณรงค์ ชอบที่จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายให้ผู้ฟ้องคดีได้กลับสู่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา
- 375 views