แพทย์ชนบทจากโรงพยาบาลชุมชนกว่า 730 แห่งทั่วประเทศ นัดชุมนุมวอนผู้บริหาร สธ. ทบทวนนโยบายปรับลด'เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย'แพทย์ ปลัด สธ. แจงเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินเฉพาะในเมือง ย้ำพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัยเหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า มีแนวโน้มว่าในเร็วๆ นี้ จะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ประจำ ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กว่า 730 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากแพทย์ที่เคยทำงานในโรงพยาบาลชุมชนต่างรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเสียสละทำงานในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. มี นโยบายปรับลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 และตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 และให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการพิจารณา ค่าตอบแทนจากภาระงาน หรือ P4P (Pay for Performance) แทน
"การทำลักษณะนี้ ถือเป็นการผลักไสบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ในชนบท ซึ่งปัจจุบันก็แทบจะไม่มีใครอยากอยู่ให้ยิ่งออกจากระบบสาธารณสุขภาครัฐมากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้บริหาร สธ.มักเข้าใจว่าแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทำงานน้อย แต่รู้หรือไม่ว่าคนไข้ฟอกไตเทียมที่โรงพยาบาลชุมชนมากกว่าโรงพยาบาลจังหวัดถึง 2 เท่าตัว ที่สำคัญโรงพยาบาลเหล่านี้ยังมี จำนวนมากกระจายครอบคลุมร้อยละ 60-70 ของประชากรทั้งประเทศอีกด้วย ดังนั้น สมาชิกในโรงพยาบาลชุมชนกว่า 730 แห่งทั่วประเทศ จะขอแต่งชุดดำไปเรียกร้องความยุติธรรมกับรัฐมนตรี สธ.และปลัด สธ.ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ เพื่อให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว" นพ.อารักษ์กล่าว
ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า หากจะมีการประท้วงจริง ผู้บริหาร สธ.ก็มีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งโดยหลักการมีนโยบายปรับปรุงค่า ตอบแทนแพทย์ในส่วนนี้แน่นอน ซึ่งรวมถึง ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหวิชาชีพ ทั้งในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปด้วย แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อแพทย์และบุคลากรในสายวิชาชีพอื่นๆ ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย และถิ่นทุรกันดาร เพียงแต่เปลี่ยนวิธีจ่ายให้กับแพทย์ที่ทำงานในเมือง หรือพื้นที่ปกติเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนมีประมาณ 3,000 คน จากแพทย์ทั้งประเทศ 44,000 คน อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของโรงพยาบาลชุมชน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ พื้นที่ปกติ ทุรกันดารระดับ 1 และทุรกันดารระดับ 2 โดยแบ่งเป็นระยะเวลาทำงาน ดังนี้ ทำงานปีที่ 1-3 พื้นที่ปกติ ได้ 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 30,000 บาท ทำงานปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติ ได้ 30,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 40,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 50,000 บาท ทำงานปีที่ 11-20 พื้นที่ปกติ ได้ 40,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 50,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 60,000 บาท และทำงานปีที่ 21 ขึ้นไป พื้นที่ปกติ ได้ 50,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 60,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 70,000 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 มีนาคม 2556
- 3 views