"ผอ.สวปก." คาด ธ.ค.นี้ กรมบัญชีกลางเดินหน้าลดค่ารักษาระบบสวัสดิการข้าราชการ คุมเบิกจ่ายกลุ่มยาลดไขมันเพิ่ม ชี้เป็นยานอกบัญชียาหลักอีกตัวใช้กันมาก มูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านบาทต่อปี สูงกว่ากลูโคซามีน “กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา” แนะทำความเข้าใจกับข้าราชการก่อนเพื่อลดแรงต้าน
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรมบัญชีกลางได้ประกาศยกเลิกการสั่งจ่ายยากลูโคซามีน ซัลเฟต ที่ใช้รักษาอาการข้อเข่าเสื่อม ในปีที่ 2555 นั้น พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายจากตัวยาดังกล่าวลง 10 ล้านบาท จากเดิมที่มีมูลค่าการสั่งจ่ายยานี้สูงถึง 600 ล้านบาท จึงถือเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการเบิกจ่ายยาดังกล่าวได้อีกครั้ง แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และต้องมีการระบุเหตุผลการสั่งจ่าย ปรากฏว่าแพทย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่สั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย เพราะไม่อยากมีปัญหาและถูกตรวจสอบในภายหลัง ส่วนโรงพยาบาลบางแห่ง อย่าง รพ.ศิริราช ได้ตัดรายการยากลูโคซามีน ซัลเฟต ออกจากบัญชียาโรงพยาบาลเลย เพื่อตัดปัญหา ขณะที่ รพ.อีกหลายแห่งใช้วิธีติดประกาศแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบการห้ามเบิกจ่ายแทน
นพ.สัมฤทธิ์กล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบ กรมบัญชีกลางยังคงเดินหน้าควบคุมเบิกจ่ายยาในกลุ่มอื่น และให้ใช้ยาสามัญแทน ยกเว้นการสั่งจ่ายที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งหากทำได้ครบทั้งหมด มีการประเมินว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบสวัสดิการข้าราชการลงถึง 5,000-6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใน ธ.ค.นี้ ทราบว่าจะมีการประกาศควบคุมกลุ่มยาลดไขมันในเลือดอีก 1 รายการ เนื่องจากพบว่าเป็นยาที่มีการเบิกจ่ายยานอกบัญชีมากที่สุด มีมูลค่าการเบิกจ่ายสูงถึงปีละ 1,400 ล้านบาท มากกว่ายากลูโคซามีน ซัลเฟต โดยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ยานี้ ซึ่งการประกาศควบคุมเชื่อว่าจะทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับผลกระทบ
“กลุ่มยาไขมันในเลือดมีทั้งที่เป็นยาสามัญและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่อยู่ในระบบสวัสดิการข้าราชการจะได้รับยานอกบัญชี เนื่องจากแพทย์เชื่อว่ามีประสิทธิผลดีกว่า แต่ยาไขมันที่เป็นยาสามัญและยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยอมรับว่ามีราคาที่แตกต่างกันมาก ซึ่งยาสามัญมีราคาไม่ถึง 1 บาท ขณะที่ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่หมอสั่งจ่ายให้ผู้ป่วย 1 ราย ราคา 7,000 บาท สำหรับกินในช่วง 3 เดือน หรืออยู่ที่ 20,000 บาทต่อคนต่อปี เฉพาะแค่ยาลดไขมันรายการเดียว” นพ.สัมฤทธิ์กล่าว
ด้าน พล.ต.หญิงพูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า การประกาศควบคุมการเบิกจ่ายยา 9 กลุ่มนั้นออกมานานแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคำสั่งชะลอเอาไว้ก่อน ถ้าวันนี้จะมีคำสั่งห้ามเบิกจ่ายยาไขมันอีก ตนก็ไม่เห็นด้วย แต่หากเป็นเพียงการควบคุมการสั่งจ่ายโดยให้อยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์ ตรงนี้สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐบาลหันมารณรงค์ ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันสูง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ที่ยังไม่เป็นโรคอ้วน เพราะจากการศึกษาพบว่าอาหารมีส่วนสำคัญในการควบคุมเรื่องไขมันอุดตันได้ถึง 60% ส่วนการใช้ยานั้นช่วยได้แค่ 40%
“ทุกคนมีหน้าที่ในการดูแลตัวเองไม่ให้เกิดไขมันในเลือดสูง แต่เมื่อเกิดโรคแล้วก็มีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ควบคุมอาการ เพราะฉะนั้นยาไขมันก็ยังมีความจำเป็นมาก” พล.ต.หญิงพูลศรีกล่าว
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า ยาลดไขมันในเลือดเป็นหนึ่งในกลุ่มยาเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีข้าราชการใช้ยากลุ่มนี้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตและโรคหัวใจจำนวนมาก โดยการควบคุมการเบิกจ่าย หากมียาสามัญทดแทนและผลิตในประเทศ นอกจากมีราคาถูกกว่า แต่มีประสิทธิผลในการรักษาเท่าเทียมกัน ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการใช้และเบิกจ่ายเพื่อทดแทนยานำเข้าที่เป็นยาต้นแบบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการที่มีการใช้งบประมาณสูงมากในแต่ละปี แต่หากในกรณีที่เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่ไม่มียาสามัญใดที่ใช้ทดแทนได้ ยาที่ยังมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ ทางกรมบัญชีกลางไม่ควรที่จะปิดกั้น ควรเปิดช่องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสม
นพ.เจตน์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างความมั่นใจในยาสามัญที่จะนำมาทดแทนให้กับข้าราชการที่เคยรับแต่ยานำเข้าที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยต้องมีการรับรองมาตรฐานการผลิตการควบคุม อย่างมาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจในประสิทธิภาพยาที่ได้รับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องช่วยกันดำเนินการ
“ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะประกาศมาตรการควบคุมค่ายารายการใดรายการหนึ่ง อย่างกรณีของยาลดไขมันในเลือด ควรที่จะมีการทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นข้าราชการก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดแรงต่อต้าน ไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของกรมบัญชีกลางมาถูกทางแล้ว แต่ต้องมีการเปิดช่องทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย เพราะการรักษาผู้ป่วยถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง การรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน” นพ.เจตน์กล่าว
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 11 ธันวาคม 2555
- 79 views