เปิดผลวิจัยประเมิน “30 บ.รักษาทุกที่ เฟส 1” ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ “ทำ รพ.ใหญ่แออัดเพิ่ม” และ ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัด “ทำระบบสุขภาพปฐมภูมิอ่อนแอ” ขณะที่ภาพรวมช่วยประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทองและบริการเพิ่มผ่าน 7 หน่วยบริการนวัตกรรม พร้อมแนะ 4 ข้อเสนอนโยบาย เน้นพัฒนาระบบสารสนเทศ หัวใจขับเคลื่อนสู่ผลสำเร็จ 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ อาจารย์ภาคเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการกำกับ ติดตาม และประเมินนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงผลการศึกษา เพื่อนำข้อมูล และข้อเสนอที่ได้ไปพัฒนา 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในระยะต่อๆ ไป โดยใช้เวลาในการศึกษา 100 วัน ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่นำร่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย จ.แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ซึ่งผลสรุปการศึกษาที่ได้คือ ปัญหาต่างๆ ที่หลายคนคาดการณ์ก่อนเริ่มโครงการฯ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดีก็ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องปรับแก้ และพัฒนาต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ทั้งนี้ 2 ข้อกังวลหลัก คือ 1.ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่มากขึ้นจนทำให้ยิ่งเกิดความแออัดมากขึ้นมั้ย และ 2.ทำให้ระบบริการสุขภาพปฐมภูมิอ่อนแอลงหรือไม่ โดยข้อกังวลแรกนั้นจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลการใช้บริการของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสี่จังหวัดนำร่องในช่วงไตรมาสแรก ย้อนหลัง 3 ปี คือ 2565 2566 และ 2567 ไม่พบหลักฐานว่าแนวโน้มของการใช้บริการข้ามเขตพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ข้อมูลว่าการข้ามเขตในภาพรวมที่ประชาชนไม่ใช้ใบส่งตัวอาจจะมีมากขึ้นแต่ไม่เกิน 5% ซึ่งกลุ่มคนไข้ที่ได้รับอานิสงฆ์หลักจะเป็นคนไข้นอกเขตโรงพยาบาลที่เคยถูกส่งตัวมารับบริการอยู่ก่อนแล้วและมีนัดหมายให้มารับบริการ ซึ่งเดิมจะต้องกลับไปขอใบส่งตัวทุกครั้งในการมารับบริการตามนัด แต่พอมีนโยบายนี้ก็สามารถมาใช้บริการตามนัดหมายได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวอีกและใช้สิทธิได้ ก็ทำให้สะดวกขึ้น

สำหรับปัจจัยที่น่าจะทำให้ประชาชนไม่ได้ข้ามไปโรงพยาบาลใหญ่มากเหมือนที่หลายคนกังวลนั้น อาจมาจากภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการโดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างอำเภอ หรือไม่ก็ต้องมีรถพาหนะของตัวเอง รวมถึงระบบจัดการภายในของโรงพยาบาลที่กำหนดให้ผู้ป่วยรายใหม่ต้องพบแพทย์ทั่วไปที่แผนกผู้ป่วยนอกก่อน ไม่สามารถไปพบแพทย์เฉพาะทางได้เองโดยตรง และหากแพทย์ทั่วไปตรวจวินิจฉัยแล้วเห็นว่าจำเป็นจริงๆ ผู้ป่วยจึงจะถูกส่งไปยังแผนกเฉพาะทาง นอกจากนี้คลินิกเฉพาะทางในโรงพยาบาลก็อาจจะมีการกำหนดโคต้าในการรับผู้ป่วยในแต่ละวันด้วย  

“30 บาทรักษาทุกที่” ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ “ทำ รพ.ใหญ่แออัดเพิ่ม”

ส่วนข้อกังวลที่อาจทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิอ่อนแอลงนั้น ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ระบุว่า ข้อมูลที่ได้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ แต่ที่ สปสช. ได้ขยายบริการหน่วยบริการนวัตกรรม 7 วิชาชีพ ได้แก่ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านยา คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกแพทย์แผนไทย พบว่าหน่วยบริการนวัตกรรมเหล่านี้มักมีทำเลตั้งอยู่ในชุมชน การคมนาคมสะดวก และเข้าถึงง่าย รวมถึงเปิดให้บริการนอกเวลาราชการ และวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ด้วย ทำให้มีคนเข้าไปใช้บริการมาก โดยเฉพาะคลินิกพยาบาลที่มีการรับบริการมากที่สุดในบรรดาหน่วยบริการนวัตกรรมทั้งหมด รองลงมาคือร้านยา ทั้งนี้คนไข้ที่ไปใช้บริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมมีทั้งคนไข้เก่าของโรงพยาบาล และคนไข้ใหม่ที่ไปใช้บริการ

มีข้อคำถามอีกประการว่า นโยบายบัตรประชาชนในเดียวนี้ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยบัตรทองรายใหม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมาใช้บริการหรือไม่มาใช้สิทธิในระบบมาใช้บริการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลการใช้บริการของหน่วยบริการประจำเดิมและฐานข้อมูลการใช้บริการของหน่วยบริการนวัตกรรมพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่เคยมาใช้บริการหรือใช้สิทธิในช่วงสามปีก่อนหน้านี้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรกของปี 2567 ภายหลังมีนโยบาย และในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการไปรับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรม  

พบ 98% ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ไปเข้ารับบริการพึงพอใจมาก

ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า ส่วนความพึงพอใจของประชาชนสิทธิบัตรทองที่ไปเข้ารับบริการในระยะที่ 1 พบว่า ร้อยละ 98 พึงพอใจมาก โดยให้เหตุผลความสะดวกการรับบริการ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องรอคิวนาน 

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามนโยบายในระยะแรก พบว่าประเด็นแรก แม้ระบบการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลการให้บริการและการเบิกจ่ายของหน่วยบริการต่างๆเป็นภาพที่พึงประสงค์และจะมีอานิสงฆ์อย่างมากต่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดีในระยะแรกทางโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบกับข้อติดขัดในการเบิกจ่ายค่าบริการผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลทางการเงิน (Financial Data Hub: FDH) พอสมควร รวมถึงยังมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่พอสมควร เช่น ระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการหลักและหน่วยบริการนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย (Personal Health Record) ให้สามารถใช่งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

ประเด็นที่สอง แม้หน่วยบริการนวัตกรรมจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ขาดการเชื่อมโยงการให้บริการระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิคู่สัญญาหลักและหน่วยบริการนวัตกรรมเอกชน เนื่องจากขาดระบบการเชื่อมต่อของข้อมูล อีกทั้งระบบการจ่ายเงินชดเชยตรงให้คลินิกเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคลินิกเอกชนว่าจะได้รับการเบิกจ่ายที่รวดเร็วและแน่นอน ซึ่งหากเป็นคนไข้เจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน มาใช้บริการเป็นครั้งคราวก็ไม่มีผลกระทบอะไร แต่ส่งผลโดยตรงกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบบูรณาการและต่อเนื่อง เพราะเมื่อไปรับการรักษาที่หน่วยบริการนวัตกรรม  โรงพยาบาลแม่ข่ายจะไม่ทราบข้อมูลการรักษาเหล่านั้นของผู้ป่วยเลย ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีผลต่อการตรวจติดตามอาการ และการให้ยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่องด้วย

แนะ 4 ข้อเสนอเชิงนโยบาย เน้นพัฒนาระบบสารสนเทศ

ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประเมิน คือ 1. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องร่วมมือกันและทำงานกันอย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลทางการเงิน (FDH) เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่าบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. สธ. ควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถานพยาบาลในสังกัด ให้เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบสารสนเทศ

 3. สธ. ควรพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพรายบุคคล (PHR) ให้มีความสมบูรณ์และสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการจัดระบบบริการที่บูรณาการและยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเป็นเครื่องมือในการวางแผนการดูแลร่วมกัน และ 4. สปสช. ควรปรับรูปแบบการจ่ายเพื่อให้เกิดเครือข่ายบริการร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการประจำเดิมของผู้ป่วย และหน่วยบริการนวัตกรรม เพื่อให้ผู้โรคเรื้อรังได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและบูรณาการกัน

 “การพัฒนาระบบสารสนเทศทุกอย่างที่ใช้ดำเนินการภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะเป็นหัวใจสำคัญให้โครงการฯ นี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะเป็นการพัฒนาระบบสุขภาพไปสู่การที่ประชาชนสามารถดูแลรักษาสุขภาพตัวเองได้ (Self care) ด้วย” ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าว