ร.ร.พยาบาลรามาฯเผย เปิดเออีซีทำบุคลากรไทยไหลออก หากดูแลสวัสดิการไม่ดี เหตุสิงคโปร์จ่อฮุบ แนะ "สธ.-ลูกจ้างวิชาชีพ" หาทางออกร่วมกัน ยึดความมั่นคงและสวัสดิการที่ดีพอเป็นหลัก

วานนี้ (13 พ.ย.) ผศ.จริยา วิทยะศุภร ผอ.โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีม.มหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังคงขาดแคลนพยาบาลอย่างมาก อัตราส่วนพยาบาลกับผู้ป่วยอยู่ที่ 1 ต่อ 600 เท่านั้นแม้จะมีการผลิตพยาบาลเพิ่มให้มีอัตราส่วนที่ 1 ต่อ 500 ก็ตาม แต่ยังทำไม่ได้ ทั้งนี้ หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนพยาบาล เนื่องจากมีการไหลออกของพยาบาลไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะสิงคโปร์ที่มีกำลังในการซื้อสูงแต่หลักสูตรการสอนยังไม่เทียบเท่าไทยหากไม่ป้องกันจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพยาบาลและอาจารย์สอนพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ผศ.จริยา กล่าวอีกว่า การขาดแคลนอาจารย์พยาบาล จะทำให้เกิดวิกฤตไม่สามารถผลิตพยาบาลได้ รัฐบาลต้องดูแลพยาบาลให้มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นสูง แต่ต้องมีความมั่นคง อย่างการเรียกร้องบรรจุข้าราชการลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งไม่ต้องการเงินเดือนสูงมาก แต่มีความมั่นคง มีสวัสดิการครอบคลุมไปถึงครอบครัว ดังนั้น ระบบจ้างงานจึงต้องมีความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนและสวัสดิการ เพื่อป้องกันการไหลออกในอนาคต ส่วนการปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงาน กสธ. ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ ต้องหารือตกลงร่วมกันให้ได้ เพราะจะช่วยลดปัญหาบุคลากรขาดแคลน

"ทั้งนี้ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีได้เตรียมรับมือแล้ว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตร เช่น ฝึกทักษะภาษา จัดหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ ให้ทุนนักศึกษาพยาบาลหน่วยก้านดีเรียนปริญญาโทเอก เพื่อพัฒนาเป็นอาจารย์สอนพยาบาลเป็นต้น และการปรับแผนการผลิตพยาบาลให้เพิ่มมากจาก 230 คนต่อปีเป็น 300-350 คนต่อปี ซึ่งเมื่อเรียนจบจะทำงานที่ รพ.รามาฯ เลย มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงและมีสวัสดิการไม่แพ้ข้าราชการ"ผศ.จริยา กล่าว

วันเดียวกัน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างเปิดอบรม "การถ่ายทอดยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลระดับประเทศ พ.ศ.2556-2560" ว่า การแก้ปัญหาโดยลูกจ้างชั่วคราว 11,000 คนที่รอการบรรจุนั้นในปีแรกสามารถบรรจุได้แน่นอน 4,000 คน และอีก 3,000 คน ในช่วง 3 ปี อย่างน้อยจะทำให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ80-90% ให้ได้ โดยกำลังคนที่เหลือ 7,000 ตำแหน่งจะหาทางแก้ปัญหาให้ดีที่สุดโดยการเพิ่มความมั่นคง สวัสดิการ ค่าตอบแทน ระหว่างรอแก้ปัญหากำลังคนทั้งระบบ นอกจากนี้ สธ.ได้จัดทำ 5 ยุทธศาสตร์การบริการพยาบาล เพื่อพัฒนาวงการพยาบาล คือ 1.ปรับบทบาทและกระบวนทัศน์งานบริการพยาบาล2.พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนทางการพยาบาล 4.พัฒนาระบบบริการพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และ 5.ยกระดับคุณภาพงานบริการพยาบาลสู่ความเป็นผู้นำในเออีซี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน