ASTVผู้จัดการรายวัน - โรงเรียนพยาบาลรามาฯ เปิดตัวหลักสูตรพยาบาลอินเตอร์ระดับ ป.โทแห่งแรก ชี้หลักสูตรการเรียนการสอนเน้นบูรณาการ อยู่ที่ไหน สะดวกเรียนเวลาใด เรียนผ่านออนไลน์ได้
ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผอ.โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเปิดตัวหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพชั้นสูงหรือ Hybrid Education Model ในหัวข้อ "มิติใหม่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีกับนวัตกรรมหลักสูตร Hybrid สู่ผู้นำด้านการพยาบาลแห่งอาเซียน" ว่า เป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่นำมาใช้ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ และเป็นครั้งแรกของการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาล รวมถึงเป็นการบูรณาการครั้งแรกในอาเซียน ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ทั้ง Teleconference และการเรียนผ่านระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเวลาใดหรือเรียนที่ไหนก็ได้ และการเรียนแบบ Face to face กับอาจารย์ที่สามารถโต้ตอบกันได้ในห้อง
เรียน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะอาชีพพยาบาลนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่จะมีการไหลเข้า-ออก ต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรนี้ ยังสามารถต่อยอดเพื่อเตรียมตัวเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้สอนด้านภาคบริการ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพยาบาลขั้นสูงAdvance Practice Nurse (APN) ค่าเล่าเรียนไม่เกิน 1 ล้านบาท หวังผลิต นศ.รุ่นแรกจำนวน20 คน หลักสูตรปริญญาตรี 230 คนต่อปี
ผศ.ดร.จริยา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะเปิด AEC ในปี 2558 ซึ่งเปิดเมื่อใดจะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับอาชีพพยาบาล โดยเฉพาะความตกลงตามกรอบ MRA ที่สามารถเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอาชีพพยาบาลได้อย่างเสรี ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงพยายามปรับหลักสูตรการผลิตพยาบาลให้เป็นสากล ขณะเดียวกันก็สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เป็นสากลมากขึ้นและเร่งผลิตพยาบาลเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนที่จะเกิดมากขึ้นในอนาคตซึ่งการผลิตนั้นจะต้องควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพด้วย ในขณะนี้สัดส่วนของพยาบาลต่อคนไข้ของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 500 คนสำหรับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ สิงคโปร์สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 200 คน
อนึ่ง ทั้งประเทศมีการผลิตพยาบาลกว่า 8 พันคนต่อปี จากสถานศึกษาทั้งหมด 82 แห่งแบ่งเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 23 แห่ง กระทรวงสาธารณสุข 29 แห่ง สังกัด กทม. 6 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นของเอกชน 24 แห่ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
- 30 views