วิชาชีพ "พยาบาล" เป็น 1 ใน 7 สาขาอาชีพแรงงานฝีมือที่สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างเสรี ซึ่งแน่นอนว่านี่คือความท้าทายในการเร่งและพัฒนาทักษะของแรงงานให้พร้อมก่อนออกสู่ตลาดอาเซียน และอาจจะส่งผล กระทบต่อความเปลี่ยนแปลงด้านปัญหาการขาดแคลนพยาบาลไทยในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่มี แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มประชากรสูงอายุในปี 2558 โดยจะเพิ่มขึ้น 11-12% เวียดนาม 17% และไทย 8% เมื่อเป็นเช่นนี้วิชาชีพพยาบาลจึงต้องมีบทบาทมากขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาระบบและมุ่งส่งเสริมความพร้อมของคุณภาพในวิชาชีพพยาบาลไทย "โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี" ภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเริ่มก้าวใหม่สู่การปรับแผนผลิตบุคลากรให้รองรับต่อการขยายตัวของผู้ใช้บริการสุขภาพในอนาคต
"ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร" ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ถึงแม้ว่าปัญหาการขาดแคลนพยาบาลจะไม่ได้รุนแรง มากนัก เมื่อเทียบกับการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยยังขาดพยาบาลในหลายส่วน ทั้งพยาบาลใน โรงพยาบาล และรวมถึงพยาบาลในชุมชนด้วย ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตบุคลากรพยาบาล จึงต้องเร่งปรับและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
"โรงเรียนของเราผลิตพยาบาลได้ 230 คนต่อปี ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย และหากเทียบเป็นอัตราส่วนจำนวนพยาบาลกับประชากรไทย คือ 1 ต่อ 600 คน แต่เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย กลับมีอัตราส่วนที่ดีกว่า คือไม่เกิน 1 ต่อ 300 คน ซึ่งถ้าจะให้พยาบาลไทยมีอัตราส่วนที่ดีขึ้น อย่างน้อยน่าจะมีอัตราส่วนใหม่ที่ 1 ต่อ 500 ก็จะถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะเริ่มผลิตบุคลากรให้มากขึ้น และหวังว่าเราจะเป็นสถาบันพยาบาลชั้นนำทางเลือก อันดับ 1 ของนักศึกษาพยาบาลไทยในอนาคต"
ซึ่งแผนการผลิตพยาบาลไทยอย่างมีคุณภาพนั้น จะต้องปรับหลักสูตรเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่วิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแบบจิตตปัญญาศึกษา (Problem Based Learning) และ Transformative Education หรือการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงคน โดยจะไม่สอนเพียงความรู้ทางวิชาชีพ แต่จะปลูกฝังค่านิยม และจิตสำนึกที่ดีให้กับนักศึกษา ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อวิชาชีพพยาบาล ส่วนการพัฒนาทักษะทางภาษา นอกจากจะมีการเพิ่มโปรแกรมอบรมภาษาอังกฤษให้แก่อาจารย์และนักศึกษาแล้ว ยังจะมีการขยายการแลกเปลี่ยนนักศึกษา-อาจารย์ไปสถาบันการศึกษาในประเทศอาเซียนมากขึ้น จากเดิมมีความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับประเทศในทวีปอื่น ๆ
รวมถึงการทยอยปรับรายวิชาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีให้เป็นแบบ 2 ภาษาทั้งหมด และเปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโท เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งคนไทยและอาเซียนได้เข้ามาเรียน
นอกจากนี้ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดียังมีแผนเตรียมเปิดหลักสูตรเฉพาะทางอย่างสาขาการดูแลผู้สูงอายุในระดับปริญญา เพื่อสอดรับต่อความต้องการทางวิชาชีพเฉพาะด้านของสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มปรับในปี 2556 เพื่อให้ทันกับการเปิดเออีซี ส่วนด้านของการเพิ่มเติมอุปกรณ์การเรียนการสอน คาดว่าจะมีการเปิดห้องฝึกปฏิบัติพยาบาลจำลอง (Simulation Lab) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี บางพลี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่มากกว่า เพื่อให้นักเรียนพยาบาลได้ฝึกทักษะก่อนขึ้นปฏิบัติงานจริง
"เมื่อเราได้ผลิตบุคลากรที่มีความเก่งและดีอย่างมีคุณภาพแล้ว จะได้นำบุคลากรเหล่านี้มาเป็นกำลังสำคัญในการให้บริการแก่ผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะได้เตรียมพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้"
ส่วนการเปิดเสรีอาเซียนจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างพยาบาลจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียอย่างไรนั้น "ผศ.ดร.จริยา" บอกว่า จริงอยู่ที่การเปิดเออีซีจะเกิดการไหลเข้าและไหลออกของพยาบาลในอาเซียนได้อย่างเสรี แต่การ ไหลออกของพยาบาลไทยคือข้อที่น่ากังวลที่สุด
"การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือจะต้องอยู่ในกลุ่มที่มีความพร้อมทั้งด้านภาษาและทักษะ นั่นจึงเป็นข้อจำกัดที่น่ากังวลว่า หากพยาบาลที่เก่งและมีความสามารถเกิดการไหลออกไปสู่ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มากกว่าไทย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนพยาบาลที่เพิ่มขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า หรือแม้กระทั่งอาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนอาจารย์พยาบาล ที่จะส่งผลต่อการผลิตพยาบาลที่มีคุณภาพในระยะยาวได้"
ทั้งหมดเป็นการขยายโอกาสในวิชาชีพพยาบาลของอาเซียน รวมถึงการแก้ปัญหาเชิงรุกของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเตรียมพร้อมรับผลกระทบในวิชาชีพพยาบาลหลังจากเปิดเออีซี ทั้งในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพและภาพรวมด้านงานสาธารณสุขของประเทศ ส่วนจะรับมือได้หรือไม่อาจต้องอาศัยการปรับตัวของหลักสูตรพยาบาลในสถาบันการศึกษา อื่น ๆ ร่วมกันด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 9 ธ.ค. 2555
- 4 views