การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ถือว่าเป็นหนึ่งปัจจัยในอนาคตที่ท้าทายระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะกับวิชาชีพพยาบาลซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 แรงงานฝีมือตามกรอบ Mutual Recognition arrangement หรือ MRA ที่สามารถเคลื่อนย้าย แรงงานอย่างเสรีในอาเซียน ซึ่งจะทำให้นักวิชาชีพสามารถเข้าไปทำงานในประเทศสมาชิก ได้สะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน
ภายในกรอบ MRA ทำให้มีความเป็นไปได้มาก ว่า จะทำให้เกิดทั้งการไหลเข้าของพยาบาล จากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ผลิตพยาบาลเพื่อการส่งออก ในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า อาจจะทำให้เกิดการไหลออกของพยาบาลวิชาชีพและอาจารย์พยาบาลจากไทย โดยเฉพาะพยาบาลที่มีศักยภาพและเก่งภาษาจากไทย ไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง แต่ขาดแคลนพยาบาลอย่างในสิงคโปร์ และมาเลเซีย
การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงถือเป็นความท้าทายของวงการสาธารณสุขไทย ในอนาคต ทั้งในระดับนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ ตลอดจนผู้ใช้บริการ รวมทั้งสถาบันการศึกษาด้านพยาบาล ที่จำเป็นต้องทบทวนของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างสมดุลระหว่าง "ความต้องการใช้พยาบาล" (Demand) และ "จำนวนพยาบาลผู้ให้บริการ" (Supply) เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา ในการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนพยาบาลที่เป็นปัญหาสั่งสมมาต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทวีความรุนแรงมากขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพยาบาลกว่า 100,000 คน และสามารถผลิตพยาบาลได้ปีละ 9,000-10,000 คน แต่เมื่อเทียบกับอัตราเร่งของความต้องการแล้ว ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถ ผลิตพยาบาลได้ทัน ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายของภาครัฐในการขยายความคุ้มครองด้านสุขภาพ การส่งเสริมไทยสู่การเป็น Medical Hub รวมไปถึง
การขยายตัวของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกวันนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีห้องผู้ป่วยแต่ให้บริการไม่ได้ เพราะมีพยาบาลไม่เพียงพอ
เมื่อดูอัตราส่วนของพยาบาลต่อประชากรในวันนี้ เห็นชัดเจนว่า สถานการณ์พยาบาล ในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยอยู่ในสัดส่วน 1 ต่อ 600 น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างในสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ ในระดับ 1 ต่อ 250 และ 1 ต่อ 300 ตามลำดับ และยิ่งหากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรมีเพียง 1 ต่อ 200 นั้นถือได้ว่าต่างกันถึง 3 เท่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลจะรุนแรงขึ้นในอนาคต หากเราไม่ปรับตัวเตรียมพร้อมและมองไปข้างหน้า
เพราะเมื่อดูจากหลายปัจจัย พบว่า ในอนาคตความต้องการพยาบาลกำลังยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรทั้งในไทยและอาเซียนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มผู้ป่วยไหลเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น
หากมองเฉพาะในมิติของความต้องการพยาบาล ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีบทบาท ในการผลิตพยาบาลหลักแห่งหนึ่งของประเทศ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ได้วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพยาบาล เป็น 300-350 คนต่อปี ภายในปี 2560 จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 230 คนต่อปี
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ยังมองไปข้างหน้าถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปิดเสรีอาเซียน ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ที่จะเกิดจากโรคอุบัติใหม่จากการเคลื่อนย้ายคนอย่างเสรี ตลอดจนความสามารถในการรองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับบริบทความเป็นอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันการศึกษาพยาบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ให้นักศึกษามีมุมมองที่กว้างไกลมากขึ้น โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีในฐานะศูนย์ประสานงานองค์การด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก ยังมุ่งมั่นที่จะยกระดับองค์ความรู้ด้านสุขภาพกับประเทศในอาเซียน ด้วยการสนับสนุนพยาบาลในอาเซียน ให้เข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพยาบาลระหว่างกัน
การปรับตัวรับมือกับการเปิดเสรีอาเซียน จึงไม่ได้มีคำตอบสุดท้ายอยู่แต่เพียงการ เพิ่มจำนวนการผลิตพยาบาลวิชาชีพ ทว่ายังขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในระดับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ พร้อมไปกับการแสวงหาโอกาสและความร่วมมือ ระหว่างประเทศในอาเซียน ที่จะนำไปสู่การยกระดับด้านสาธารณสุขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประชาคมอาเซียน ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
สถานการณ์พยาบาลในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยอยู่ในสัดส่วน 1 ต่อ 600
ผู้เขียน : ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อานวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
- 50 views