การกลับมาระบาดของโรคคอตีบอีกครั้ง กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงการแพทย์บ้านเราอย่างมากถึงสาเหตุของการกลับมาระบาดครั้งนี้ ทั้งที่โรคนี้ได้หายไปจากประเทศไทยมานานกว่า30ปีแล้ว จึงถูกตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบเฝ้าระวังโรคในขณะนี้ โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ระบบการกระจายวัคซีนที่อาจจะมีปัญหาหลังภารกิจดังกล่าวถูกโอนไปให้ท้องถิ่นดูแล
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบการแพร่ระบาดของโรคคอตีบ ซึ่งพบผู้ป่วยมากในภาคอีสาน มีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มกราคม - 14 ตุลาคม 2555 มีจำนวน 79 ราย และเสียชีวิต 4 ราย โดยบอกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโรคอุบัติซ้ำ ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการควบคุมการระบาดของโรคคอตีบจนไม่มีการรายงานพบผู้ป่วยมานานแล้ว ซึ่งสาเหตุการกลับมาแพร่ระบาดของโรคคอตีบนี้ ยังไม่สามารถวิเคราะห์ชี้ชัดถึงสาเหตุได้ เพียงแต่จากข้อมูลสามารถตอบคำถามได้บางส่วน และมีความเป็นไปได้จาก 2-3 ประเด็น คือ 1.เกิดจากอัตราการให้วัคซีนที่ไม่ครอบคลุม การให้วัคซีนไม่ทั่วถึง อาจเข้าถึงเพียงแค่ 90-95% ของประชากร ส่งผลให้บางคนที่ไม่ได้รับวัคซีนขาดภูมิคุ้มกันโรค
2.โรคคอตีบเป็นโรคที่หายไปจากประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วในรอบ 30 ปี อาจส่งผลให้ประชากรภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันโรคตามธรรมชาติ 3.การให้วัคซีนโรคคอตีบเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2524 ผู้ที่เกิดก่อน 2524 บางคนจึงยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ และเมื่อมีผู้ป่วยโรคคอตีบเกิดขึ้นในชุมชน หากไม่มีระบบการเฝ้าระวังโรคที่รวดเร็ว ก็อาจทำให้โรคแพร่กระจายได้ง่าย ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและเกิดป่วยได้
อย่างไรก็ตามโรคคอตีบไม่ใช่โรคที่แพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนไข้หวัดใหญ่ การระบาดไม่รวดเร็ว จึงยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อีกทั้งโรคนี้ยังมียารักษา จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลและตื่นตระหนกแต่อย่างใด
นพ.ภาสกร บอกว่าจากรายงานการแพร่ระบาดจะพบว่ามีผู้ป่วยกระจายในทุกกลุ่มอายุ ทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งภายหลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรค ทางสำนักระบาด กรมควบคุมโรคจึงได้เร่งเข้าควบคุม ซึ่งหากลูกหลานคนใดที่คาดว่ายังไม่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดก็ขอให้นำมารับวัคซีนเพิ่มเติม
ทั้งนี้การให้วัคซีนตามระบบปัจจุบันเป็นหน้าที่ของทางโรงพยาบาลอำเภอในพื้นที่ รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งจะดูว่ามีเด็กเกิดใหม่หรือไม่ และจะให้วัคซีนตามทะเบียนราษฎร์ โดยใช้งบจากสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยทางกรมควบคุมโรคจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้ความรู้ในด้านวิชาการ ทั้งนี้ยืนยันว่าวัคซีนโรคคอตีบไม่ขาดแคลน และมีเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิดที่ต้องรับวัคซีนป้องกันตามอายุ หลังจากสถานการณ์โรคเกิดการระบาดซ้ำ ทำให้ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะระบบการกระจายวัคซีนที่อาจมีจุดบกพร่อง เพราะเป็นการกระจายวัคซีนตามทะเบียนราษฎร์ และงบเหมาจ่ายรายหัว ส่งผลให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยบางกลุ่มไม่ได้รับวัคซีน นพ.ภาสกร บอกว่าถือเป็นเรื่องที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องเป็นผู้ดูแลและควบคุมโรค ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการดำเนินการของท้องถิ่นเอง โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่หน่วยงานวิชาการ ซึ่งดูในเรื่องเทคนิคเท่านั้น
ซึ่งต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่โรคคอตีบสามารถควบคุมได้ แทบจะไม่มีการรายงานผู้ป่วย จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่พบผู้ป่วยในระยะหลังนี้ อาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการกระจายวัคซีนหรือไม่ โดยมีการมอบให้โรงพยาบาลและหน่วยงานท้องถิ่นดูแล จากเดิมเคยเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค นพ.ภาสกร บอกว่าส่วนตัวคิดว่าไม่ได้เกิดจากระบบ เพราะภารกิจดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องยาก อีกทั้งตามโครงสร้างการบริหารต้องเป็นการโอนภารกิจจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าอาจมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่และผู้ปกครองที่จะเป็นผู้เอาใจใส่ดูแลเพื่อให้ลูกหลานได้รับวัคซีนครบถ้วน
ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามประเมินความคืบหน้าสถานการณ์และมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ขณะนี้ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น ใน 15 จังหวัด แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1.จังหวัดที่ต้องดำเนินการขั้นสูงสุด ได้แก่ จังหวัดเลย เนื่องจากที่พบผู้ป่วยมากถึง 66 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย 2.จังหวัดอื่นๆที่พบผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อ ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี 3.จังหวัดที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้แก่ พิษณุโลก สกลนคร และ 4.จังหวัดที่ติดกับพื้นที่ที่มีผู้ป่วยหรือผู้สงสัย ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองคาย เชียงราย พิจิตร อุตรดิตถ์ บึงกาฬ และน่าน โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั้ง 15 จังหวัด ดำเนินการตาม 6 มาตรการ ดังนี้ 1.ให้ตั้งวอร์รูมเพื่อควบคุมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สั่งการ วิเคราะห์สถานการณ์ กำกับติดตามผลการดำเนินการในพื้นที่ที่เฝ้าระวัง และให้ประชุมติดตามสถานการณ์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรายงานผลที่กรมควบคุมโรคทุกสัปดาห์
2.จัดระบบเฝ้าระวังเชิงรุกเกี่ยวกับอาการไข้ เจ็บคอ ฝ้าสีเทาในคอ โดยให้ อสม.เคาะประตูบ้านถามอาการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรายงานผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัย ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนโรคทันที และติดตามผู้ป่วยกินยาให้ครบตามกำหนด 3.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเสริมภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนทุกคนในอำเภอที่เฝ้าระวังให้ครบภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่เน้นประวัติการรับวัคซีน และเก็บตกในเด็กตามการให้วัคซีนระบบปกติ
4.ให้จัดอบรมทบทวนความรู้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรื่องโรคคอตีบ เกี่ยวกับการวินิจฉัย การรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด 5.เร่งให้ความรู้การป้องกันโรคคอตีบแก่ อสม. ประชาชน กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และ6.ให้แต่ละจังหวัดจัดระบบเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือกับเทศกาลหรือกิจกรรมที่มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก เช่น เทศกาลออกพรรษา เทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลปีใหม่ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสื่อเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยว ในเรื่องการป้องกันโรคและอาการเบื้องต้นที่ต้องรีบพบแพทย์
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2555
- 80 views