กรุงเทพธุรกิจ -ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2555 ได้เดินหน้าหลากหลายนโยบาย ทั้งที่ได้รับ การยอมรับและต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ ในระบบสาธารณสุข ถือเป็นยุคสมัยที่มี ม็อบบุกกระทรวงมากที่สุด
แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นร้อน มากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของ "การปรับ ค่าตอบแทน" เพื่อกระจายให้กับทุกวิชาชีพในระบบ จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวของ กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในระบบสาธารณสุข ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในกระทรวงที่เกิดขึ้น
แม้ว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่าย ค่าตอบแทนที่เรียกว่า "ค่าตอบแทนตาม ผลการปฏิบัติงาน" (P4P : Pay-for- Performance) จะทำให้ 24 สายวิชาชีพ ในระบบสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทน เพิ่มขึ้น ทว่ากลับส่งผลกระทบต่อ ค่าตอบแทนของแพทย์ที่ทำงานในชนบท เนื่องจากถูกปรับเกลี่ยและลดเงินค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจให้กับแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่
โดยค่าตอบแทนแพทย์ชนบทตาม หลักเกณฑ์ใหม่ถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าตอบแทนที่ได้รับตามพื้นที่พิเศษ ทุรกันดาร และวิชาชีพขาดแคลน ร้อยละ 50 และ 2.ค่าตอบแทนตามคุณภาพงาน ร้อยละ 50 เช่นเดียวกับการจ่ายค่าตอบแทนของวิชาชีพอื่นในระบบ เพียงแต่ขอปรับจากรูปแบบการวัดประเมินตามภาระงาน เป็นการวัดคุณภาพตามผลการทำงาน (PQO : Pay for Quality and Outcome) แทน ซึ่ง ค่าตอบแทนส่วนหลังนี้อาจทำให้ค่าตอบแทนแพทย์ชนบทลดลงจากที่เคยได้รับปกติ หลังจากที่มีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ การจ่ายแบบใหม่นี้
ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านจาก "ชมรมแพทย์ชนบท" ภายใต้การนำของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่อง ทั้งแต่งชุดดำประท้วง ติดป้ายไม่ยอมรับค่าตอบแทน P4P ไม่เข้าร่วมประชุมหารือปรับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน รวมถึงเดินหน้าขับไล่ นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง ชุมนุมเรียกร้องยังบ้าน นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลถึงผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการไหลออกของแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ชนบท ไปยัง โรงพยาบาลเอกชนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และไม่ต้องการให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก
ทั้งนี้เมื่อมองในภาพรวมพบว่า ทุกสายวิชาชีพในระบบสาธารณสุขต่างเห็นชอบ และสนับสนุนกับหลักเกณฑ์การจ่าย ค่าตอบแทนใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักรังสีวิทยา เป็นต้น รวมไปถึงลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพ เพราะทำให้ ทุกคนในระบบได้รับการดูแล มีการกระจายค่าตอบแทนที่มาจากเงินบำรุงโรงพยาบาลอย่างทั่วถึง
ทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนแพทย์ที่ทำงานในเขตเมืองและชนบท ทำให้แพทยชนบทจึงเป็นกลุ่มวิชาชีพเดียว ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน ที่ใช้วิธีการเกลี่ยงบประมาณแบบนี้ ทั้งยังเห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มเงินลงไปเพื่อให้ค่าตอบแทนทุกวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสมมากกว่า และล่าสุดยังคงมีการเคลื่อนไหว ต่อเนื่อง
ขณะที่การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีการเดินหน้าและต้องติดตาม ซึ่งหลังจากที่ ครม.อนุมัติตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 22,641 อัตรา กำหนดบรรจุต่อเนื่อง 3 ปี เมื่อเดือนธ.ค.2555 หลังการเรียกร้องมาอย่างยาวนาน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับบุคลากรในระบบ ทั้งค่าตอบแทน ความก้าวหน้าวิชาชีพ และสวัสดิการ ที่เป็นสาเหตุสำคัญการไหลออกของบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาล ในปีงบประมาณ 2556 ได้มีการบรรจุไปเรียบร้อยแล้ว 7,547 ตำแหน่ง และในปี 2557 นี้ อยู่ระหว่าง การพิจารณาบรรจุอีก 7,547 ตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมาได้มีการออกมาเคลื่อนไหวของชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับหลักเกณฑ์การบรรจุที่พิจารณาตามประสิทธิภาพกำลังคนและวิชาชีพขาดแคลนตามเงื่อนไขสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จากแต่เดิม ที่เป็นไปตามความอาวุโส ทำให้เกิดความ ไม่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์เดิม
พร้อมกันนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจาก กลุ่มพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ที่ขอปรับสัดส่วนจัดสรรตำแหน่งบรรจุ เพราะพยาบาลนอกจากเป็นกลุ่มวิชาชีพ ที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบแล้ว ยังเป็น กลุ่มเคลื่อนไหวจนได้รับตำแหน่งบรรจุนี้ โดยขอสัดส่วนบรรจุร้อยละ 25 ซึ่งใน ปี 2555 ได้รับสัดส่วนบรรจุเพียงร้อยละ 23 ในปีนี้จึงขอให้เป็นร้อยละ 27 จึงดูเหมือนว่าการบรรจุตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขยังเป็นปัญหาไม่ลงตัว เช่นเดียวกับการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ เริ่มเดินหน้าในปี 2556 ทั้งในกลุ่มวิชาชีพ และนอกสายวิชาชีพ เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว ด้วยการปรับเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ และความก้าวหน้า ส่อเค้าเกิดปัญหาเช่นกัน เนื่องจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของลูกจ้างชั่วคราวจาก 1.2 แสนคน เป็น 1.4 แสนคน ในช่วง 1 ปี แทนที่จะมีจำนวนลดลง หลังที่ลูกจ้างชั่วคราวส่วนหนึ่งได้รับ การบรรจุตำแหน่งข้าราชการ ส่งผลให้งบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ไม่สามารถปรับลูกจ้างชั่วคราวในระบบทั้งหมดเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้ จึงอาจทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งตามมาเช่นกัน
นอกจากนโยบายด้านบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพบริหารและจัดการ เป็น อีกนโยบายหนึ่งที่มีการดำเนินการ ในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของ นพ.ประดิษฐ ที่มุ่งควบคุมงบประมาณ รักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เน้น ลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ทำให้มี สารพัดนโยบายดำเนินการ อย่างการรวม จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ระดับเขต จากเดิมปล่อยให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อกันเอง ที่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองราคา
การปรับจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยดึงกระทรวงสาธารณสุขเข้ามีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาโรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องจนถูกมองเป็นการล้วงลูก อย่างการจัดงบ MOC : Minimal Operating Cost หรือการคำนวณงบประมาณจากค่าใช้จ่าย ขั้นต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาด สภาพคล่องที่ได้มีการคัดค้าน
นอกจากนี้ยังมีการเดินหน้านโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาภาระงบประมาณจาก การรักษาคนต่างด้าว ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยต้องแบกรับภาระนับพันล้านบาท ดังนั้น จึงได้เริ่มต้นทั้งโครงการเดินหน้าขาย บัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว นอกระบบ การเก็บค่าประกันสุขภาพ จากนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศ ตลอดจน การจัดตั้งกองทุนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน โดยร่วมมือกับหน่วยงาน ซึ่งทั้งหมดยังต้องติดตามผลการดำเนินงานจากนี้
แต่ทั้งนี้จากสถานการณ์วิกฤติ ทางการเมือง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องประกาศ ยุบสภาลงเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการสานต่อนโยบายและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การเดินหน้าต้องหยุดชะงักลง
ซึ่งหลังจากนี้คงต้องรอดูผู้ที่จะเข้ามา บริหารคนใหม่ว่า จะเดินหน้านโยบาย ต่างๆ เหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นปมความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ธันวาคม 2556
- 8 views