กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง ภายหลังจากที่แพทยสภาได้ออกหนังสือส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าหากหน่วยงานใดต้องการขอความเห็นทางการแพทย์ จากนี้ให้ส่งเรื่องมายังแพทยสภาดำเนินการ จากที่แต่เดิมเป็นการขอความเห็นตรงไปยังราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ โดยนายกแพทยสภา นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ระบุถึงเหตุผลว่า เพื่อเป็นการป้องกันการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่ราชวิทยาลัยได้ให้ความเห็นไปแล้ว เนื่องจากราชวิทยาลัยไม่ได้เป็นนิติบุคคล ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว นั่นหมายถึงต้องจัดหาทนายต่อสู้คดีกันเอง ซึ่งที่ผ่านมาต่างประสบปัญหาจำนวนไม่น้อย
"ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ จึงไม่อยากให้ความเห็นทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีหนังสือถามความเห็นไป แต่ก็เลี่ยงที่จะตอบกลายเป็นปัญหา" นพ.สมศักดิ์ กล่าวและว่า แพทยสภาในฐานะหน่วยงานที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งดูแลราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ จึงต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ดังนั้นจึงส่งผลให้หลังจากนี้ ในการขอความเห็นทางการแพทย์จะต้องทำหนังสือส่งเรื่องผ่านมายังแพทยสภาก่อน และแพทยสภาเองจะทำหน้าที่กลั่นกรองว่าควรส่งไปยังราชวิทยาลัยแพทย์ใดบ้างเพื่อให้ความเห็นประกอบ และในกรณีที่ราชวิทยาลัยแพทย์มีความเห็นที่ขัดแย้งจะได้มีการหารือในทางวิชาการเพื่อให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีการแจ้งเรื่องนี้ออกไป ปรากฏว่าหลายฝ่ายต่างแสดงความกังวล โดยเฉพาะในส่วนของเครือข่ายผู้ป่วย เพราะนอกจากความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนขอความเห็นที่มากขึ้นแล้ว ยังกังวลการให้ความเห็นของราชวิทยาลัยแพทย์ที่อาจขาดความอิสระ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากแพทยสภาก่อน โดย นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มองว่าในด้านวิชาการ แพทย์ย่อมมีความอิสระที่จะแสดงความเห็นได้ จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีกระบวนการที่ครอบงำความคิดของแพทย์
ขณะที่ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า การดำเนินเช่นนี้ หากรวมถึงการขอความเห็นของประชาชน ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีที่เกิดการฟ้องร้องในการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยหรือญาติในฐานะผู้บริโภคด้านสาธารณสุขก็มีข้อจำกัดในการหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยานอยู่แล้ว การขอความเห็นจากราชวิทยาลัยแพทย์จึงเป็นหนทางเดียวที่ทำได้ขณะนี้ แต่เมื่อมีการกำหนดให้ต้องยื่นเรื่องผ่านแพทยสภาก่อน จึงเท่ากับเป็นการตัดช่องทาง เป็นการตัดตอน ทำให้ประชาชนไม่มีทางต่อสู้ทางคดีเลยหากเกิดปัญหาจากการรักษาที่ผิดพลาดขึ้น ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยที่แพทยสภาจะออกมาดำเนินการเช่นนี้ และมองว่าจะทำให้ความน่าเชื่อถือของแพทยสภาลดลง ส่วนที่ราชวิทยาลัยแพทย์จะให้ความเห็นหรือไม่นั้น ควรปล่อยให้เป็นดุลพินิจของราชวิทยาลัยเอง
นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายจากการรักษาตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาช่วยเหลือผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับกระบวนการเยียวยาที่ต้องการความรวดเร็วเพื่อลดความขัดแย้ง
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่แพทยสภาต้องพิสูจน์ตนเอง ว่าไม่ได้เป็นไปตามที่มีหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง ที่เกรงจะเป็นการปกป้องวิชาชีพแพทย์ด้วยกันกรณีที่มีปัญหาฟ้องร้อง หรือเป็นการตัดช่องทางต่อสู้คดีของผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย แต่สิ่งที่ดำเนินการไปนี้เพื่อแก้ไขปัญหาและเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องติดตามจากนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 กันยายน 2556
- 4 views