เมื่อพูดถึง "การตรวจสุขภาพ" คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นตัวช่วยในการป้องกัน และรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มในกรณีที่ตรวจพบโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย แต่การตรวจสุขภาพที่เป็นไปในลักษณะแบบผิดทิศผิดทาง อาจให้ผลในทางที่กลับกัน
ปัจจุบันการตรวจสุขภาพส่วนใหญ่ ไปเพื่อมุ่งค้นหาโรคและอาการป่วยเป็นหลัก แทนที่จะเป็นการตรวจเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทั้งยังเน้นที่ตรวจวิเคราะห์โดยห้องปฎิบัติการและการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ไม่เพียงแต่ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพพุ่งสูงขึ้น แต่ในหลายกรณียังเป็นการตรวจที่เกินความจำเป็น และนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นนโยบาย การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 บอกว่า ปัญหาการตรวจสุขภาพต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ การเข้าถึงการตรวจสุขภาพที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันและคัดกรอง ความเสี่ยง ปัจจุบันสถานการณ์นี้ดีขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการตรวจมะเร็งปากมดลูก ช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้มีผู้หญิง ที่เข้ารับการตรวจน้อยมาก เพราะไม่เข้าใจ ขาดความตระหนัก รวมถึงอายที่จะรับ การตรวจ แต่หลังจากการรณรงค์ต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการตรวจเพิ่มมากขึ้นถึง ร้อยละ 60 ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 30-60 ปี สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัว ต่อการดูแลและตรวจสุขภาพมากขึ้น
ส่วนกระแสการตื่นตัวในการตรวจสุขภาพนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ส่งผลให้เกิดปัญหาการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็นตามมา มีการขานรับกระแสโดยเฉพาะจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีการส่งเสริมจัดแพ็คเกจบริการตรวจสุขภาพอย่างแพร่หลาย และมีการทำเป็นบัตรของขวัญตรวจสุขภาพตั้งแต่ราคาไม่ถึงพัน จนถึงหลายหมื่นบาท
ตั้งแต่เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ เป็นต้น ทั้งที่การตรวจหลายอย่างนอกจากไม่มีความจำเป็นแล้ว พบว่า ยังส่งผลเสียตามมาจากการตรวจในกรณี ที่ออกมาเป็นผลลวง ซึ่งนอกจากทำให้ เกิดความกังวลแล้ว อาจทำให้เสียเงิน จากการมุ่งรักษาโรคต่อเนื่อง
ตัวอย่างกรณีของผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ 45 ปี ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ แต่เนื่องในวันแม่ลูกๆ พาไปตรวจสุขภาพเพื่อเป็นของขวัญ ที่มีการโฆษณาขายแพ็คเกจในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นค่า CA 125 มีค่าสูง 50 IU/m ทำให้ ผู้ป่วยและญาติกังวลและกลัวว่าจะเป็น มะเร็งปากมดลูกได้ แพทย์จึงแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์บริเวณอุ้งเชิงกราน ผลพบว่า รังไข่ข้างขวามีขนาด 14 cc จากปกติซึ่งอยู่ที่ 10 cc จึงให้มีการตรวจเพิ่มเติมโดยการ ส่องกล้องผ่านหน้าท้อง
เนื่องจากผู้หญิงรายนี้สามารถเบิกสิทธิข้าราชการได้ จึงย้ายไปรับการรักษาที่ โรงพยาบาลรัฐ โดยแพทย์ได้ทำการผ่าตัด ปีกรังไข่ข้างซ้ายด้วยการส่องกล้องหน้าท้องและส่งชิ้นเนื้อตรวจ ปรากฏว่า ผลคือไม่พบ เซลล์มะเร็ง แต่หลังจากนั้นได้เกิดอาการ ปวดท้อง ต้องผ่าตัดฉุกเฉินและพบว่า มีหนองบริเวณช่องท้องจากลำไส้ทะลุ ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 7 วันจึงกลับบ้านได้ นี่เป็นเพียงแต่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้การตรวจสุขภาพในกรณีที่ผลการตรวจพบว่า ไม่มีอาการหรือป่วยเป็นโรค แต่อาจส่งผลลบต่อผู้รับการตรวจได้เช่นกัน อย่างกรณีผู้ที่สูบบุหรี่จัด หากผลเอกซเรย์ปอดพบว่า ปอดปกติไม่เป็นอะไรเลย อาจทำให้บุคคลดังกล่าวเกิดความประมาทและ สูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พยายามลด การสูบลง แทนที่จะไม่ป่วยก็เลยป่วยแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน
ดังนั้น การตรวจสุขภาพที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่การตรวจเพื่อมุ่งค้นหาว่า ป่วยเป็นโรคอะไร แต่ต้องเป็นการตรวจในขณะที่ยังไม่ป่วย เน้นหาปัจจัยเสี่ยงความเป็นไปได้ว่าอาจป่วยด้วยโรคอะไร เพื่อแนะนำให้มีการดูแลสุขภาพ ปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ต่อโรคดังกล่าว
การตรวจใช้วิธีการซักประวัติผู้ป่วย เป็นหลัก หากพบความผิดปกติจึงให้มีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งหลายโรคสามารถใช้วิธีการซักประวัติผู้ป่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจโดยห้องปฏิบัติการ อย่างโรคมะเร็งลำไส้ ในคนที่ไม่มีใครในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ ไม่จำเป็นต้องตรวจเลย
จึงใช้วิธีการซักประวัติได้บวกกับการถามถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหารได้ ไม่ใช่การข้ามกระโดดตรวจโดยใช้วิธีส่องกล้องเลย ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่เกินจำเป็น อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การตรวจซักประวัติต้องใช้เวลาการตรวจอย่างน้อย 15-30 นาที ทำให้ เสียเวลาในการตรวจผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์ จึงมักถามเพียงแค่ 2-3 คำถามและใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแทน
สำหรับการแก้ไขปัญหาการจัดแพคเกจ ตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนที่เกินความจำเป็นนั้น นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า การจะเข้าไปควบคุมโดยตรงคงทำได้ลำบาก จึงต้องเน้นที่การให้ความรู้ประชาชนว่าการตรวจสุขภาพ อะไรที่เป็นการตรวจที่จำเป็น และอะไรเป็นการตรวจที่เกินความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเป็นผู้เลือก
ซึ่งในที่สุดจะทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องจัดแพ็คเกจการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม ออกมาขายแทน อีกทั้งยังมีองค์กรคุ้มครอง ผู้บริโภคที่สามารถเข้ามาดูแลตรงนี้ นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพนั้น การตรวจบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำการตรวจทุกปี บางโรคตรวจเพียงแค่หนเดียวก็พอ อย่างมะเร็งตับที่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบบี หรือมะเร็ง ปากมดลูกที่ควรตรวจทุก 3 ปี ซึ่งข้อมูล เหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเสียเงิน ตรวจสุขภาพโดยไม่จำเป็นได้
"ก่อนหน้านี้ผมมีอาการเหมือนจะเป็น โรคหัวใจ ภรรยาผมก็ไปหาแพคเกจตรวจหัวใจมาให้ราคาสูงถึง 12,000 บาท แต่เนื่องจาก ผมเป็นแพทย์ที่มีความรู้ จึงไม่เห็นด้วย และเลือกที่จะไปทำการตรวจเฉพาะคลื่นหัวใจแทนซึ่งก็ทราบผลเหมือนกัน เสียเงินเพียงแค่หลักพันบาทเท่านั้น ดังนั้นทำอย่างไรที่จะกระจายความรู้แบบนี้ให้ประชาชนรับทราบถึงการตรวจที่จำเป็นเท่านั้น"
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า บริการตรวจสุขภาพที่เกินความจำเป็นนั้น นอกจากโรงพยาบาลเอกชนแล้ว โรงพยาบาลในส่วนภาครัฐมีปัญหาเช่นเดียวกัน โดยมีการเบิกค่าใช้จ่ายการตรวจ ที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะจากกองทุนระบบสวัสดิการข้าราชการที่ให้สิทธิการตรวจสุขภาพถึง 16 รายการ
จากการศึกษาวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศระบุว่า หากมีการจัดแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสมและคุ้มค่า จะช่วยประหยัดงบประมาณการตรวจสุขภาพในระบบนี้ลงได้ถึง 1 ใน 3 และนำเงินที่ประหยัดนี้มากระ จายให้กับผู้ที่อยู่ในระบบและยังเข้าไม่ถึงการตรวจสุขภาพที่จำเป็นแทน การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 นี้ นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนได้ถูกนำเสนอและบรรจุเป็นหนึ่งในวาระการประชุม เนื่องจากต่างมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และนับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา
แม้แต่ทางแพทย์สภา สมาคมและสภาวิชาชีพแพทย์สาขาต่างๆ ต่างให้ความสำคัญ ซึ่งจะมีวางแนวทางการตรวจสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งวิธีตรวจ วิเคราะห์และความเหมาะ ในการตรวจของแต่ละช่วงวัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไม่เพียงแต่ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่มีมูลค่าจำนวนมาก แต่ยังเป็นการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและให้ได้รับบริการตรวจสุขภาพที่ดีและเหมาะสม
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
- 453 views